Abstract:
การศึกษาวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ความแตกต่างและความสัมพันธ์ทางความหมายของคำ心 xīn ในภาษาจีนกับคำ “ใจ” /caj/ ในภาษาไทย รวมทั้งศึกษาเปรียบเทียบมโนทัศน์ของผู้ใช้ภาษาที่มีต่อคำทั้งสอง โดยอาศัยแนวทางของอรรถศาสตร์ปริชาน ได้แก่ 1) แนวคิดเรื่องมโนทัศน์ที่สะท้อนจากการปรากฏใช้ร่วมของคำเพื่อวิเคราะห์รูปร่างและหน้าที่การทำงานของ xīn และ “ใจ” 2) แนวคิดเรื่องคำหลายความหมายเพื่อใช้จำแนกความหมายต่างๆของ xīn และ “ใจ” และ 3) แนวคิดเรื่องแบบจำลองปริชานเพื่อวิเคราะห์มโนทัศน์ของคำทั้งสองในระบบปริชานของผู้ใช้ภาษา ผลการวิจัยพบว่า xīn ในภาษาจีนและ “ใจ” ในภาษาไทยมีมโนทัศน์ที่คล้ายคลึงกัน กล่าวคือเป็นวัตถุที่ตั้งอยู่บริเวณกลางทรวงอกค่อนไปทางซ้าย มีรูปทรงสามมิติซึ่งสามารถบรรจุสิ่งต่างๆไว้ภายใน หน้าที่ของวัตถุนี้เป็นไปเพื่อการผลิต เก็บ และควบคุม ดังนั้นคำ xīn ในภาษาจีนและ “ใจ” ในภาษาไทยสามารถจำแนกความหมายออกเป็น 3 ความหมายหลักได้แก่ (1) อวัยวะหัวใจ (2) ตัวทำหน้าที่คิดและรู้สึก (3) ศูนย์กลาง ส่วนแบบจำลองปริชานของ xīn และ “ใจ” มีความสัมพันธ์กับแวดวงมโนทัศน์ชีวิต แวดวงมโนทัศน์ความคิด ความรู้สึก แวดวงมโนทัศน์พื้นที่ว่างแบบปิดล้อม และแวดวงมโนทัศน์อื่นๆ ซึ่งกระบวนการทางปริชานอันสำคัญที่ก่อให้เกิดการสร้างมโนทัศน์ ความสัมพันธ์ระหว่างความหมายกับแบบจำลองปริชานของคำทั้งสอง ได้แก่ กระบวนการอุปลักษณ์และกระบวนการนามนัย นอกจากนี้ยังมีปัจจัยทางวัฒนธรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งความเชื่อในทางพุทธศาสนาที่มีอิทธิพลต่อกระบวนการสร้างมโนทัศน์ของคำทั้งสอง คำ心 xīn และ “ใจ” /caj/ จึงมีมโนทัศน์ที่มีความจำเพาะทางวัฒนธรรม