Abstract:
วิทยานิพนธ์เรื่องนี้มุ่งศึกษาลักษณะของความเปรียบเกี่ยวกับอาหาร และสาระธรรมที่สื่อผ่านความเปรียบเกี่ยวกับอาหารในอรรถกถาชาดก เพื่อแสดงให้เห็นความสำคัญของความเปรียบเกี่ยวกับอาหารในการสื่อสาระธรรม ผลการการศึกษาพบว่าความเปรียบเกี่ยวกับอาหารเป็นกลวิธีทางวรรณศิลป์ที่โดดเด่นในอรรถกถาชาดก เพราะปรากฏความเปรียบเกี่ยวกับอาหารในอรรถกถาชาดกทั้งสิ้น 415 เรื่องจากอรรถกถาชาดกจำนวน 547 เรื่อง ลักษณะของความเปรียบเกี่ยวกับอาหารในอรรถกถาชาดกมี 2 ลักษณะ ลักษณะแรกคือความเปรียบเกี่ยวกับอาหารทางตรงมี 9 กลุ่ม ได้แก่ อาหารคือกาม เดนอาหารคือความน่ารังเกียจของกาม อาหารคือความตระหนี่ อาหารคือพระธรรม อาหารคือสติ อาหารคือบุญบารมี อาหารคือศรัทธาในการทำทาน อาหารที่ไม่เบียดเบียนคือศีล อาหารคือปีติจากการบำเพ็ญฌาน ลักษณะที่สองคือความเปรียบเกี่ยวกับอาหารทางอ้อม ได้แก่การใช้กริยาที่สัมพันธ์กับการบริโภค และการใช้รสซึ่งเป็นคุณลักษณะของอาหารมาเป็นความเปรียบ โดยความเปรียบเกี่ยวกับอาหารทั้งสองลักษณะสัมพันธ์เป็นเอกภาพเดียวกัน ทำให้ความเปรียบเกี่ยวกับอาหารในอรรถกถาชาดกมีลักษณะเป็น “ชุดความเปรียบ” การใช้อาหารเป็นความเปรียบในอรรถกถาชาดกเพื่อสื่อสาระธรรมเรื่องเหตุแห่งทุกข์ โดยแสดงให้เห็นว่าทุกข์มีเหตุมาจากความเพลิดเพลินในกามและตัณหา อาหารมีความหมายแทนเหตุหรือปัจจัยที่นำไปสู่ความทุกข์ ในขณะเดียวกันอาหารก็เป็นความเปรียบที่แสดงให้เห็นหนทางที่นำไปสู่การดับทุกข์ โดยใช้อาหารแสดงความศรัทธาในการทำทาน แสดงการรักษาศีลอันบริสุทธิ์ แสดงการสละออกจากกาม และที่สำคัญคือแสดงแนวทางการดับทุกข์ด้วยปัญญา อันได้แก่ใช้อาหารเป็นความเปรียบแทนโยนิโสมนสิการในธรรม และการบำเพ็ญสมาธิ นอกจากนี้ยังปรากฏใช้อาหารเป็นความเปรียบแสดง “ทุกข์” และ “ภาวะดับสนิทแห่งทุกข์” โดยนัยนี้ความเปรียบเกี่ยวกับอาหารในอรรถกถาชาดกจึงได้แสดงแนวคิดอริยสัจสี่อย่างสมบูรณ์ ความเปรียบเกี่ยวกับอาหารในอรรถกถาชาดกทำให้พันธกิจของอรรถกถาชาดกที่เป็นวรรณคดีพุทธศาสนาบริบูรณ์ โดยการทำให้ผู้อ่านเกิด “ปัญญา” ตามนัยพุทธศาสนา คือความเข้าใจเหตุแห่งทุกข์และหนทางดับทุกข์ ผ่านการเชื่อมโยงความหมายของอาหารซึ่งเป็นรูปธรรมกับสาระธรรมที่เป็นนามธรรมอันปรากฏในพระไตรปิฎก ความเปรียบเกี่ยวกับอาหารในอรรถกถาชาดกจึงมีความสำคัญในการสื่อสาระธรรมที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนาได้อย่างประณีตงดงาม