Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความโศกที่สร้างอารมณ์สะเทือนใจในปัญญาสชาดกกับการสอนคติธรรมทางพุทธศาสนา ด้วยการวิเคราะห์กลวิธีการสร้างความโศกที่สร้างอารมณ์สะเทือนใจ และการวิเคราะห์ผลของการสร้างอารมณ์สะเทือนใจที่มีต่อการสอนคติธรรมทางพุทธศาสนาในปัญญาสชาดก ผลการวิจัยพบว่า กลวิธีนำเสนอความโศกที่สร้างอารมณ์สะเทือนใจในปัญญาสชาดก มี ๓ กลวิธี คือ ๑) กลวิธีการสร้างเรื่องเพื่อนำความโศก ได้แก่ การสร้างเหตุการณ์พลัดพราก การนำเสนอตัวละครให้มีลักษณะที่เอื้อต่อการสร้างความโศก และการคลี่คลายความโศก กลวิธีการสร้างเรื่องเหล่านี้ทำให้ความโศกในปัญญาสชาดกนั้นมีความโดดเด่น และเป็นการสร้างเรื่องที่มีความโศกเป็นอารมณ์สำคัญของเรื่อง ซึ่งทำให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์สะเทือนใจไปกับความโศกที่ปรากฏในเรื่องได้มากขึ้น
๒) การนำเสนอความโศกร่วมกับความรู้สึกอื่น ได้แก่ ความโศกร่วมกับความสงบ ความโศกร่วมกับความมุ่งมั่น ความโศกร่วมกับความกลัว ความโศกร่วมกับความรักและความุ่งมั่น การปรากฏร่วมกันดังกล่าวทำให้ความโศกโดดเด่นมากขึ้นและช่วยหนุนให้ความรู้สึกอื่นชัดเจนมากขึ้นด้วย และ ๓) กลวิธีทางวรรณศิลป์ ได้แก่ การใช้คำ การใช้ความเปรียบและการบรรยายและพรรณนาความโศก ซึ่งกลวิธีทางวรรณศิลป์นี้เป็นกลวิธีการใช้ภาษาที่สร้างสุนทรียภาพให้กับความโศกในปัญญาสชาดก กลวิธีเหล่านี้เป็นปัจจัยที่นำเสนอความโศกในตัวบทปัญญาสชาดกซึ่งสร้างอารมณ์สะเทือนใจแก่ผู้อ่านให้เกิดการตระหนักรู้และเข้าใจในคติธรรมทางพุทธศาสนาในปัญญาสชาดก
ความโศกที่สร้างอารมณ์สะเทือนใจในปัญญาสชาดกมีความสัมพันธ์กับการสื่อคติธรรมทางพุทธศาสนาอย่างชัดเจน กวีสามารถใช้ความโศกสร้างอารมณ์สะเทือนใจแก่ผู้อ่านจนเกิดการตระหนักรู้และเข้าใจในคติธรรมสำคัญ คือ ๑) กฎแห่งกรรมทั้งในฝ่ายอกุศลกรรมและฝ่ายกุศลกรรม ซึ่งทำให้ผู้อ่านเกิดความเกรงกลัวต่อการทำบาป เชื่อมั่นและศรัทธาในการทำความดี ๒) ความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของสรรพสิ่ง ๓) ผลแห่งการบำเพ็ญทานอันเป็นหนทางไปสู่การบรรลุพระโพธิญาณของพระโพธิสัตว์ คติธรรมทั้ง ๓ ประการนี้ นำพาผู้อ่านให้เกิดความเข้าใจพุทธธรรมในระดับเบื้องต้น คือ ความเกรงกลัวต่อการทำบาป เกิดการศรัทธาในการทำความดี การเข้าใจว่าสรรพสิ่งเป็นอนิจจัง เปลี่ยนแปลงและสูญสลายไปได้ตลอดเวลา ความเข้าใจพุทธธรรมในระดับสูง คือ การโน้มนำผู้อ่านให้ละต่อการยึดมั่นถือมั่น ทำให้เกิดความสุขสงบ เกิดปัญญา และอาจนำพาไปสู่ความหลุดพ้นจากสังสารวัฏ อันเป็นอุดมคติสูงสุดของพระพุทธศาสนา
อาจกล่าวได้ว่าปัญญาสชาดกในฐานะเป็นวรรณคดีพุทธศาสนาของไทยที่ดำรงความสำคัญมายาวนาน เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นอัจฉริยภาพของกวีไทยที่ได้รังสรรค์นิทานพื้นบ้านอันมีเนื้อหาทางโลกให้กลายเป็นวรรณคดีพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง ผ่านกลวิธีทางวรรณศิลป์ของการสร้างอารมร์โศกสะเทือนใจอย่างประณีตงดงาม