Abstract:
วิทยานิพนธ์เรื่องนี้มุ่งศึกษาภาพตัวแทนของขบวนการนักศึกษาระหว่าง พ.ศ.2511-2519 ที่ปรากฏในนวนิยายไทย รวมทั้งกลวิธีการเล่าเรื่องที่ใช้ในการสร้างภาพตัวแทนของขบวนการนักศึกษา และความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองและสังคมกับภาพตัวแทนของขบวนการนักศึกษาในนวนิยาย การวิจัยพบว่าภาพตัวแทนของขบวนการนักศึกษาที่ปรากฏในนวนิยายสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก คือภาพตัวแทนของขบวนการนักศึกษาก่อนและระหว่างเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ภาพตัวแทนที่ปรากฏในด้านบวกคือ นักศึกษาเป็นผู้รักชาติและมีความยึดมั่นในอุดมการณ์การเสียสละเพื่อส่วนรวม เป็นปัญญาชนซึ่งเป็นที่พึ่งแก่ประชาชน และเป็นวีรชน/วีรบุรุษในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ส่วนภาพด้านตัวแทนที่ปรากฏในด้านลบ คือ นักศึกษาเป็นเด็ก ยังขาดวุฒิภาวะ จึงไม่มีอุดมการณ์การเสียสละเพื่อส่วนรวมอย่างแท้จริง และเป็นผู้ที่มีจิตใจหยาบกระด้าง และนิยมความรุนแรง ส่วนผู้นำนักศึกษาล้วนเป็นผู้มีปัญหาส่วนตัว ภาพตัวแทนในกลุ่มที่สอง คือภาพตัวแทนของขบวนการนักศึกษาหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จนถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ภาพตัวแทนของนักศึกษาในกลุ่มนี้ปรากฏเป็นภาพด้านลบมากกว่าด้านบวก ภาพตัวแทนด้านลบที่ปรากฏเพิ่มขึ้น คือ นักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์ และเป็นผู้ก่อความวุ่นวายในสังคม
ส่วนภาพตัวแทนด้านบวกที่ปรากฏเพิ่มขึ้นคือ นักศึกษาเป็นผู้รักสันติ ไม่ได้เป็นผู้นิยมลัทธิคอมมิวนิสต์ และเป็นผู้บริสุทธิ์ ซึ่งตกเป็นเหยื่อของการใส่ร้ายและการปราบปรามอย่างรุนแรง กลวิธีการเล่าเรื่องที่ใช้ในการสร้างภาพตัวแทนของขบวนการนักศึกษามี 4 กลวิธี คือ การสร้างตัวละคร การนำเสนอโครงเรื่อง การสร้างฉาก และการเลือกผู้เล่าเรื่อง กลวิธีบางประการถูกนำมาใช้เพื่อสร้างภาพตัวแทนบางลักษณะโดยเฉพาะ เช่น การสร้างภาพเหมารวมของตัวละครใช้เพื่อสร้างภาพด้านลบของนักศึกษา ในขณะที่การให้ภาพย้อนหลัง การเล่าข้าม และการเลือกใช้ผู้เล่าที่เป็นตัวละครหลัก จะใช้ในการสร้างภาพด้านบวก เป็นต้น ในด้านความสัมพันธ์ของภาพตัวแทนของขบวนการนักศึกษากับสังคมและการเมือง การศึกษาพบว่า ปริบททางการเมืองและสภาพของวงวรรณกรรมในยุคสมัยที่บทประพันธ์ออกตีพิมพ์เผยแพร่ และภูมิหลังของผู้ประพันธ์เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างภาพตัวแทนของขบวนการนักศึกษาเพื่อตอบโต้วาทกรรมเกี่ยวกับขบวนการนักศึกษาที่มีอยู่ในสังคมไทย