Abstract:
กุ้งขาวแวนนาไม (Litopenaeus vannamei) และกุ้งกุลาดำ (Penaeus monodon) เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจของประเทศไทย โรคที่ก่อให้เกิดความเสียหายและส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้งในประเทศไทย คือปัญหากลุ่มอาการโตช้าในกุ้งกุลาดำ (Monodon Slow Growth Syndrome, MSGS) และโรคตายด่วน (Early Mortality Syndrome, EMS) ซึ่งพบว่ามีการติดเชื้อไมโครสปอริเดียชนิด Enterocytozoon hepatopenaei ร่วมด้วย และมีรายงานการติดเชื้อในกุ้งกุลาดำและกุ้งขาวแวนนาไมเท่านั้น แต่ยังไม่มีการศึกษาการติดเชื้อ E. hepatopenaeiในสัตว์น้ำอื่นๆ การศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์ในการศึกษาการติดเชื้อ E. hepatopenaei ในสัตว์น้ำขนาดใหญ่ (aquatic macrofauna) ที่อยู่ภายในบ่อกุ้งขาวแวนนาไมว่าสามารถติดเชื้อ E. hepatopenaeiในสัตว์น้ำขนาดใหญ่ โดยใช้วิธีการตรวจทางอณูชีววิทยา โดยทำการศึกษาในฟาร์มเลี้ยงกุ้ง จำนวน 4 ฟาร์ม แบ่งเป็นฟาร์มในจังหวัดฉะเชิงเทรา 2 ฟาร์ม และฟาร์มในจังหวัดจันทบุรี 2 ฟาร์ม ทำการตรวจหาการติดเชื้อ E. hepatopenaei ในกุ้ง สัตว์น้ำขนาดใหญ่ ดิน และน้ำที่ใช้เลี้ยงในวันที่เริ่มเลี้ยงและวันที่สิ้นสุดการเลี้ยง ผลการศึกษาพบว่าพบเชื้อในสัตว์น้ำขนาดใหญ่ จำนวน 5 สายพันธุ์ ได้แก่ กุ้งก้ามกราม (Macrobrachium rosenbergii) ปูนา (Sayamia Bangkokensis) ปูแสมก้ามแดง (Episesarma mederi) ปูแสมก้ามม่วง (E. versicolor) และ ปูแป้น (Varuna litterata) เมื่อทำการศึกษาทางจุลพยาธิวิทยาพบเชื้อ E. hepatopenaei ภายในท่อตับและตับอ่อน จากการศึกษาครั้งนี้สรุปได้ว่า สัตว์น้ำขนาดใหญ่นอกจากกุ้งขาวแวนนาไมและกุ้งกุลาดำแล้ว ยังสามารถพบการติดเชื้อในสัตว์น้ำขนาดใหญ่ชนิดอื่นได้ ซึ่งแสดงว่าสัตว์เหล่านี้มีโอกาสที่จะเป็นพาหะของเชื้อ E. hepatopenaei ผลการศึกษาในครั้งนี้พบการติดเชื้อ E. hepatopenaei ในสัตว์น้ำชนิดอื่นเป็นครั้งแรกของประเทศไทย