Abstract:
การถ่ายโอนสถานศึกษาจากสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการศึกษาของรัฐ แต่ปัจจุบันยังไม่มีงานศึกษาผลของกระบวนการถ่ายโอนสถานศึกษาที่ชัดเจน จุดประสงค์ของงานวิจัยฉบับนี้คือ เพื่อศึกษาเปรียบเทียบระหว่างการจัดการศึกษาของโรงเรียนสังกัด สพฐ. และ อปท. โดยใช้กรอบแนวคิดเชิงเศรษฐศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์การเมือง รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะในการพัฒนาการจัดการศึกษาของรัฐให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น งานวิจัยฉบับนี้เปรียบเทียบการจัดการศึกษาระหว่างโรงเรียนถ่ายโอนกับโรงเรียน สพฐ. ใน 4 พื้นที่ รวมทั้งสิ้น 8 แห่ง โดยสัมภาษณ์เชิงลึกผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการศึกษาของโรงเรียนจำนวนทั้งสิ้น 23 คน โดยประเด็นการสัมภาษณ์เกี่ยวกับลักษณะปัจจัยที่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ได้แก่ บริบทของพื้นที่ วิธีการใช้ทรัพยากรของโรงเรียน ลักษณะของโรงเรียน และโครงสร้างเชิงสถาบันของการจัดการศึกษา ผลการศึกษาพบว่า ตามเจตนารมณ์ของการกระจายอำนาจด้านการศึกษา โรงเรียนที่ถ่ายโอนควรมีความพร้อมในการจัดการศึกษามากขึ้น เพราะได้รับจัดสรรทรัพยากรตัวเงิน และครูเพิ่มขึ้น รวมทั้งมีนโยบายการศึกษาที่เปิดให้สะท้อนถึงความต้องการในพื้นที่ได้มากกว่าการจัดการศึกษาของ สพฐ. อย่างไรก็ตาม โครงสร้างการจัดการศึกษาภายใต้ อปท. ทำให้โรงเรียนมีความเป็นอิสระลดลง โรงเรียนจึงไม่สามารถใช้งบประมาณได้ทันในช่วงเวลาที่จำเป็น ดังนั้นผู้อำนวยการสถานศึกษาจำเป็นต้องใช้ความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ผ่านความสัมพันธ์ระหว่างผู้อำนวยการสถานศึกษากับนายก อปท. ทำให้โรงเรียนให้มีโอกาสถูกการเมืองท้องถิ่นแทรกแซงในกระบวนการสรรหาครู ทำให้ได้รับครูไม่ตรงกับความต้องการทั้งในด้านสาขาวิชาและคุณภาพ อันส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา นอกจากนี้การจัดการศึกษาของรัฐในภาพรวมยังขาดกลไกความรับผิดรับชอบ อันเนื่องมาจากการขาดความรู้และข้อมูลในด้านการจัดการศึกษาของชุมชน (ผู้ปกครอง) ผู้ซึ่งมีบทบาทในการตรวจสอบการทำงานของโรงเรียน การขาดแรงจูงใจของโรงเรียนในการสะท้อนความต้องการของชุมชนให้ อปท. รับทราบ และการขาดแรงจูงใจของ อปท. ในการให้ความสำคัญต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ดังนั้นเพื่อให้นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาของรัฐ ควรมีการผ่อนคลายกฎระเบียบให้โรงเรียน อปท. มีอิสระ รวมทั้งสร้างมาตรการความรับผิดชอบต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียนให้ชัดเจนมากขึ้น