Abstract:
การศึกษาเรื่องเศรษฐศาสตร์การเมืองว่าด้วยการลงทุนของไทยในเมียนมาร์ : กรณีศึกษาโครงการทวาย มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรัฐบาลไทย รัฐบาลเมียนมา บริษัทอิตาเลียนไทย และตัวแสดงอื่น ๆ โดยใช้การวิเคราะห์บริบททางเศรษฐกิจ และการเมืองที่ส่งผลต่อปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจดังกล่าว ใช้แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์การเมืองตามกรอบการวิเคราะห์นโยบายสาธารณะ และอำนาจในการวิเคราะห์ปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวแสดงต่าง ๆ ผลการศึกษาพบว่าปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจในโครงการทวายมีความเป็นพลวัตร กล่าวคือ ในช่วงแรกของการริเริ่มโครงการ บริบททางเศรษฐกิจ และการเมืองภายในประเทศไทย และเมียนมา ส่งผลให้รัฐบาลของทั้งสองโครงการทวายเป็นเครื่องมือในการับมือกับปัญหาที่เผชิญ และมอบสิทธิสัมปทานให้บริษัทอิตาเลียนไทยซึ่งเป็นบริษัทที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลทั้งสอง ปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรัฐบาลไทย รัฐบาลเมียนมา และบริษัทอิตาเลียนไทยเป็นไปในลักษณะของการรวมตัวกันเป็นชนชั้นนำที่มีอำนาจในการตัดสินใจพัฒนาโครงการทวาย โดยที่ภาคประชาสังคมไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรืออิทธิพลต่อการกำหนดทิศทางการพัฒนาดังกล่าว เมื่อเมียนมาทำการปฏิรูประบอบการปกครองส่งผลให้โครงสร้างอำนาจทางการเมืองถูกถ่ายโอนไปสู่ประชาชนกลุ่มชนชั้นนำทางอำนาจเดิมไม่สามารถคงอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดที่จะพัฒนาโครงการนี้ได้อีกต่อไป ตัวแสดงอย่างภาคประชาชนเข้ามามีอิทธิพลต่อการกำหนดทิศทางของการพัฒนาโครงการทวายแทน บริบททางเศรษฐกิจ และการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปนั้นส่งผลให้การพัฒนาโครงการทวายของบริษัทอิตาเลียนไทยเกิดการหยุดชะงักลง รัฐบาลไทย และรัฐบาลเมียนมาจึงยกระดับเป็นโครงการความร่วมมือระดับรัฐต่อรัฐ หากแต่บริบททางเศรษฐกิจ และการเมืองของไทยและมียนมาในเวลานั้นมีอิทธิพลทำให้รัฐบาลไม่สามารถใช้อำนาจการบริหารประเทศได้อย่างเต็มที่ รัฐบาลของทั้งสองประเทศจึงพยายามดึงญี่ปุ่นเข้ามาเป็นฝ่ายที่สามเพื่ออาศัยพลังอำนาจทางเศรษฐกิจ และการเมืองของญี่ปุ่นช่วยในการขับเคลื่อนโครงการนี้ ปัจจุบันโครงการทวายที่ถูกพัฒนาโดยรัฐบาลของทั้งสามประเทศยังมีความไม่แน่นอนของทิศทางการพัฒนาในอนาคต เนื่องมาจากบริบททางเศรษฐกิจ และการเมืองของตัวแสดงต่าง ๆ ยังไม่มั่นคง และความแน่นอน