Abstract:
วิทยานิพนธ์เรื่อง กลวิธีการขับร้องละครชาตรีของครูมัณฑณา อยู่ยั่งยืน มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประวัติความเป็นมา ทำนองเพลงที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของการขับร้องละครชาตรี กรมศิลปากร และกลวิธีการขับร้องละครชาตรีเรื่องรถเสน ของครูมัณฑนาอยู่ยั่งยืนจำนวน 10 เพลง ผลการศึกษาพบดังนี้ ประวัติความเป็นมา พบว่าละครชาตรีเป็นละครรำที่มีความเก่าแก่มาก มีตำนานเกี่ยวข้องกับวรรณกรรมพื้นบ้าน เมื่อกรมศิลปากรนำมาฟื้นฟูได้เชิญคณะละครชาตรีนายพูน เรืองนนท์เข้ามาถ่ายทอดโดยนายทองใบ เรืองนนท์บุตรชายเป็นผู้ถ่ายทอด คุณครูมนตรี ตราโมทปรับปรุงทำนองเพลง สำหรับเครื่องดนตรีและการประสมวงเดิมประกอบด้วย ปี่ชวา โทน กลองชาตรี ฆ้องคู่ ฉิ่ง และกรับ พัฒนาการของกรมศิลปากรคือมีการนำวงปี่พาทย์ไม้นวมเข้ามาบรรเลงประกอบ กรมศิลปากรทำการตัดทำนองโหมโรงชาตรีออก เหลือเพียงการรัวกลอง และจากการที่นักแสดงรำและร้องเอง เป็นนักแสดงรำอย่างเดียวโดยมีนักร้องทำการขับร้องแทน ทำให้ละครชาตรีของกรมศิลปากรมีเอกลักษณ์ทั้งเรื่องบทเพลงและทางขับร้อง เพลงที่มีการขับร้องมาแต่เดิมได้รับได้สืบทอดมาจากคณะละครชาตรีนายพูน เรืองนนท์ ได้แก่เพลงร่ายชาตรี และเพลงที่ปรากฏในเพลงชุดสิบสองภาษา คุณครูมนตรี ตราโมท ได้นำมาบรรจุไว้ในละครชาตรีเรื่องรถเสนได้แก่เพลงชาตรีตะลุง สำหรับเพลงที่คุณครูมนตรี ตราโมท ประพันธ์ขึ้นใหม่ได้แก่เพลงลิงโลดชาตรี เพลงชาตรีกรับ เพลงร่ายชาตรี 3 เพลงร่ายชาตรี 2 เพลงชาตรีบางช้าง เพลงลำชาตรีและเพลงทยอยดง โดยปรากฏทางขับร้องที่เป็นการร้องโดยมีทำนองหลักจำนวน 2 เพลงได้แก่เพลงชาตรีตะลุงและเพลงชาตรีบางช้าง ส่วนอีก 8 เพลงเป็นทำนองร้องเท่านั้นได้แก่เพลงลิงโลดชาตรี เพลงชาตรีกรับ เพลงร่ายชาตรี 3 เพลงชาตรี 2 เพลงร่ายชาตรี เพลงลำชาตรี เพลงทยอยดงและเพลงโอ้บางช้าง ทำนองส่วนใหญ่ใช้ระดับเสียงทางเพียงออล่างเป็นประธาน ทำนองจบเพลงมักจบด้วยเสียงที่ 1 ของทางเพียงออล่างเกือบทั้งหมด ลูกตกที่กำหนดส่วนใหญ่กำหนดให้ลูกตกเป็นเสียงซอล เป็นส่วนใหญ่ แนววิถีของทำนองพบทั้งสิ้นพบรูปแบบการซ้ำแนวเสียงน้อยกว่าการใช้แนวเสียงที่ใช้ครั้งเดียวและมีความหลากหลาย กลวิธีการขับร้องละครชาตรีของคุณครูมัณฑนา อยู่ยั่งยืนพบว่ายึดแบบกรมศิลปากรตามที่คุณครูมนตรี ตราโมท ปรับปรุงไว้ การใช้เสียงเป็นไปตามลักษณะการขับร้องตามทำนองหลัก การบรรจุคำร้อง ครูมัณฑนาจะบรรจุคำร้องตามบทเพลงไทยโดยทั่วไปที่เป็นทำนองในจังหวะหน้าทับปรบไก่สองชั้น การใช้เสียงขึ้นต้น พบว่าทำนองที่อยู่ในทางเพียงออล่างจะขึ้นต้นเพลงด้วยเสียงที่ 1 เสียงที่ 2 เสียงที่ 3 และเสียงที่ 6 ของทางเพียงออล่าง หากทำนองเพลงที่กำกับด้วยทางกลาง ขึ้นต้นด้วยเสียงที่ 6 ของทางหลักและหากเป็นทางเพียงออบน จะขึ้นต้นเพลงด้วยเสียงที่ 2 และเสียงที่ 6 นอกจากนี้ครูมัณฑนาใช้กลวิธีการขับร้องจำนวนทั้งสิ้น 6 ชนิดคือ การปั้นคำ การใช้หางเสียง การช้อนเสียง การหวนเสียง การกดเสียงต่ำ การผันหางเสียง กลวิธีที่พบว่าใช้มากที่สุด คือ การปั้นคำ