Abstract:
ช่วงปี ค.ศ. 1950 ดนตรีร็อคได้ถือกำเนิดและเติบโตแผ่กิ่งก้านสาขาไปอย่างกว้างขวางจนได้รับความนิยมจากผู้คนทั่วโลก และก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในดนตรีกระแสหลัก มีการทดลองผสมผสานดนตรีร็อคเข้ากับดนตรีหลากหลายประเภท เช่น แจ๊ส เร็กเก้ ฟังค์ อิเล็กทรอนิกส์ ดนตรีคลาสสิกก็เป็นดนตรีอีกแขนงหนึ่งที่ถูกนำมาผสมผสานกับดนตรีร็อค เช่นการนำเพลงร็อคที่มีชื่อเสียงมาเรียบเรียงใหม่เพื่อบรรเลงร่วมกับออร์เคสตรา หรือการนำทำนองเพลงคลาสสิกอันเป็นที่รู้จักมาแทรกเข้ากับบางช่วงของเพลงร็อค การผสมผสานเหล่านี้เกิดขึ้นในผลงานหลายชิ้น และมักจะได้เสียงตอบรับที่ดีจากผู้ฟัง ดังนั้นจึงเป็นความคิดที่น่าสนใจ สำหรับการทดลองทำสิ่งที่แตกต่างจากการนำมาเรียบเรียงใหม่หรือแทรกบางท่อนเข้าด้วยกันอย่างผลงานชิ้นอื่น ซึ่งคือการประพันธ์เพลงสำหรับวงร็อคเพื่อบรรเลงร่วมกับออร์เคสตราโดยเฉพาะ เพื่อให้เกิดภาพของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างดนตรีทั้งสองประเภท ให้ผู้ฟังได้เข้าใจว่าดนตรีคลาสสิกไม่ใช่สิ่งไกลตัว หากแต่เป็นรากฐานของเพลงที่พวกเขาคุ้นเคย การเข้าใจรากฐานของดนตรีจะช่วยให้ทั้งผู้ฟัง และนักดนตรีรู้สึกซาบซึ้งในดนตรียิ่งขึ้น “นิทรรศการแห่งจินตนาการ ดนตรีพรรณนาสำหรับวงเชมเบอร์ออร์เคสตรา” คือดนตรีพรรณนาสำหรับการบรรเลงร่วมกันระหว่างวงร็อคและออร์เคสตรา ประพันธ์ขึ้นโดยอ้างอิงจากภาพวาดของจิตรกรเอก 4 คน ได้แก่ อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี อาจารย์สมภพ บุตราช อาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร และอาจารย์ประทีป คชบัว บุคลิกและสีสันเสียงของวงดนตรีทั้งสองชนิดได้ถูกผสมผสานเข้าด้วยกันก่อให้เกิดมุมมองและวิธีสื่อความหมายที่แตกต่างจากดนตรีพรรณนาชิ้นอื่น