Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยและกลไกที่ส่งผลต่อความพึงพอใจในงาน โดยมุ่งศึกษาอิทธิพลของการควบคุมในงานต่อความพึงพอใจในงาน โดยมีรูปแบบการเผชิญปัญหาทั้ง 4 แบบ (การมุ่งจัดการปัญหา การมุ่งจัดการอารมณ์ การเพิกเฉยปัญหา และการหนีปัญหา) เป็นตัวแปรส่งผ่าน และเพื่อศึกษาอิทธิพลของกรอบความคิดแบบยึดติด-เติบโตเกี่ยวกับความสามารถของบุคคลในการกำกับความสัมพันธ์ระหว่างการควบคุมในงานและรูปแบบการเผชิญปัญหาทั้ง 4 แบบ กลุ่มตัวอย่างคือ บุคลากรในหน่วยงานราชการ 2 แห่ง จำนวน 429 คน เพศชาย 113 คน เพศหญิง 316 คน เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยแบบสอบถาม 4 มาตร ได้แก่ มาตรวัดการควบคุมในงาน มาตรวัดรูปแบบการเผชิญปัญหา มาตรวัดความพึงพอใจในงาน และมาตรวัดกรอบความคิดยึดติด-เติบโตเกี่ยวกับความสามารถของบุคคล ผลการวิจัยพบว่า การมุ่งจัดการปัญหาและการหนีปัญหาเป็นตัวแปรส่งผ่านความสัมพันธ์ระหว่างการควบคุมในงานต่อความพึงพอใจในงานอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในขณะที่การมุ่งจัดการอารมณ์และการเพิกเฉยปัญหาไม่มีบทบาทเป็นตัวแปรส่งผ่านความสัมพันธ์ดังกล่าว และพบว่ากรอบความคิดแบบยึดติด-เติบโตเกี่ยวกับความสามารถของบุคคล มีอิทธิพลกำกับผลทางอ้อมของการควบคุมในงานที่มีต่อความพึงพอใจในงาน เฉพาะที่ส่งผ่านการมุ่งจัดการปัญหาเท่านั้น โดยผู้เข้าร่วมการวิจัยที่มีคะแนนค่อนไปทางกรอบความคิดแบบเติบโตมักใช้การเผชิญปัญหาแบบการมุ่งจัดการปัญหามากกว่า ไม่ว่าจะรับรู้การควบคุมในงานสูงหรือต่ำ แต่ผู้เข้าร่วมการวิจัยที่มีคะแนนค่อนไปทางกรอบความคิดแบบยึดติดมักใช้การเผชิญปัญหาแบบการมุ่งจัดการปัญหาเฉพาะเมื่อรับรู้ว่าคนมีการควบคุมในงานสูง และไม่ค่อยใช้การมุ่งจัดการปัญหาเมื่อรับรู้ว่าตนมีการควบคุมในงานต่ำ