Abstract:
วัตถุประสงค์การวิจัยเพื่อศึกษาและกําหนดแนวทางการใช้องค์ประกอบทางเรขศิลป์ที่เหมาะสม ศึกษาลักษณะทางกายภาพ และจินตภาพของกลุ่มเป้าหมายที่เหมาะสมกับใช้งานบนโมบายแอปพลิเคชัน สำหรับสินค้าแฟชัน เครื่องแต่งกาย โดยแบ่งช่วงสินค้าแฟชั่น เครื่องแต่งกาย ที่มีการซื้อขายในโมบายแอปพลิเคชัน ออกเป็น 3 ช่วงชีวิตผลิตภัณฑ์ คือ ช่วงแนะนำ (Introduction stage) ช่วงเจริญเติบโตร่วมกับช่วงอิ่มตัว (Growth & Maturity stage) และช่วงถดถอย (Decline stage) กลุ่มตัวอย่างคือ หน้าจอโมบายแอปพลิเคชันและเว็บแอปพลิเคชันที่แสดงผลบนอุปกรณ์สมาร์ทโฟน ของแบรนด์สินค้าแฟชั่น ประเภท Apparel มูลค่าสูงสุดทั่วโลก 10 อันดับ ของบริษัทวิจัยการตลาด MillwardBrown จำนวน 120 หน้าจอ ใช้วิธีการสัมภาษณ์ และแบบเก็บข้อมูล ให้ความสนใจองค์ประกอบทางเรขศิลป์ ได้แก่ การเลือกใช้รูปแบบการออกแบบ (Design Pattern) การเลือกใช้ตัวอักษร การเลือกใช้สี และการเลือกใช้ประเภทภาพถ่ายแฟชั่น สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าความถี่ ร้อยละ และค่าเฉลี่ย ผลการวิจัยพบว่า ลักษณะทางกายภาพของกลุ่มเป้าหมายที่เหมาะสมสำหรับการใช้งานแอปพลิเคชันซื้อขายสินค้าแฟชั่น เครื่องแต่งกาย คือ กลุ่มเพศหญิง เจเนอรเรชั่นวาย (เกิดปี ค.ศ. 1982-2004) ลักษณะทางจินตภาพที่สำคัญ 3 อันดับแรก คือ (1) ต้องการแอปพลิเคชันที่ใช้งานง่าย ไม่หลายขั้นตอน (2) ปุ่มซื้อง่าย ชัดเจน (3) มีการแจ้งเตือนหากเกิดข้อผิดพลาด เพื่อไม่ให้เกิดความกังวล ด้านองค์ประกอบเรขศิลป์ รูปแบบการออกแบบ (Design Pattern) ใช้รูปแบบที่ไม่ซับซ้อน เน้นการนำเสนอตัวสินค้ามากที่สุดในช่วงแนะนำ ลดลงมาในช่วงถดถอย ช่วงเจริญเติบโตร่วมกับช่วงอิ่มตัวไม่เน้นการนำเสนอสินค้า แต่เน้นรูปแบบการเข้าถึงที่ชัดเจนรวดเร็ว แนวทางการใช้ตัวอักษร มีการใช้งานที่หลากหลายในช่วงแนะนำ กับส่วนหน้าที่ของตัวอักษรประเภทหัวเรื่องและโปรยนำ และประเภทชื่อคอลัมน์ประจำ สำหรับส่วนอื่นที่ให้ข้อมูลรายละเอียดสินค้านั้น ใช้ตัวอักษรประเภทที่มีคุณสมบัติอ่านได้ดีแม้มีขนาดเล็ก องค์ประกอบสี สีพื้นฐานใช้น้ำหนักสีในระดับอ่อน สีหลักใช้ระดับสูง และสีเน้นใช้ระดับปานกลาง องค์ประกอบด้านการเลือกใช้รูปภาพ เน้นใช้ประเภทภาพถ่ายโฆษณาเหมาะสมในช่วงแนะนำ ใช้ภาพประเภทคอลเลคชั่นสินค้าเหมาะสมในช่วงเจริญเติบโตร่วมกับช่วงอิ่มตัว ภาพถ่ายเฉพาะสินค้าเหมาะสมกับส่วนการให้รายละเอียดและการสรุปผลก่อนการสั่งซื้อ