Abstract:
งานวิจัยครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้ความสามารถในการออกกำลังกายและพฤติกรรมการออกกำลังกาย มีความตั้งใจในการออกกำลังกายเป็นตัวแปรส่งผ่าน และการวางแผนรอบด้านเป็นตัวแปรกำกับ โดยผู้เข้าร่วมงานวิจัยมีอายุระหว่าง 18 - 24 ปี จำนวน 389 คน มีความตั้งใจในการออกกำลังกาย และตอบแบบสอบถาม 2 ครั้งที่ระยะเวลาห่างกัน 1 สัปดาห์ วิเคราะห์ตัวแปรส่งผ่านและตัวแปรกำกับด้วยวิธีการตรวจสอบตัวแปรส่งผ่านอย่างมีเงื่อนไข (mediated moderation) ผลงานวิจัยพบว่า 1). ผู้เข้าร่วมงานวิจัยร้อยละ 82 .8 เป็นผู้ที่สามารถออกกำลังกายได้ตามที่ตั้งใจไว้ 2). การรับรู้ความสามารถในการออกกำลังกาย สามารถทำนาย พฤติกรรมการออกกำลังกายได้โดยตรง (β = .11, p < .05) และสามารถทำนาย พฤติกรรมการออกกำลังกาย ทางอ้อมผ่าน ความตั้งใจในการออกกำลังกาย (β = .09, p < .01) 3). การวางแผนรอบด้านในการออกกำลังกาย ไม่เป็นตัวแปรกำกับความสัมพันธ์ระหว่าง ความตั้งใจในการออกกำลังกาย กับ พฤติกรรมการออกกำลังกาย แต่การวางแผนรอบด้านในการออกกำลังกาย สามารถส่งอิทธิพลไปยัง พฤติกรรมการออกกำลังกาย ได้โดยตรง (β = .22, p < .01) 4). ความตั้งใจในการออกกำลังกาย การรับรู้ความสามารถในการออกกำลังกาย และ การวางแผนรอบด้านในการออกกำลังกาย สามารถร่วมกันทำนายพฤติกรรมการออกกำลังกายได้ 31 % จึงสรุปได้ว่า ความตั้งใจในการออกกำลังกาย เป็นตัวแปรส่งผ่านระหว่างการรับรู้ความสามารถในการออกกำลังกายและพฤติกรรมการออกกำลังกาย แต่ไม่เป็นตัวแปรกำกับในความสัมพันธ์ระหว่างความตั้งใจในการออกกำลังกายและพฤติกรรมการออกกำลังกาย ผลงานวิจัยสามารถนำไปปรับใช้ในการออกแบบโปรแกรมเสริมสร้างพฤติกรรมการออกกำลังกายเพื่อให้ ผู้ที่สามารถออกกำลังกายได้ตามที่ตั้งใจ มีการออกกำลังกายเพิ่มมากขึ้นได้ โดยการสร้างเสริมให้บุคคลมั่นใจมากขึ้นว่าตนสามารถออกกำลังกายได้ และฝึกการวางแผนอย่างรอบด้านเพื่อลดอุปสรรคในการออกกำลังกาย