Abstract:
วัฒนธรรมย่อยฮิปสเตอร์ (Hipster Subculture) เป็นหนึ่งในวัฒนธรรมวัยรุ่นที่มีรากฐานมาจากสหรัฐอเมริกา จากนั้นจึงแพร่หลายไปยังประเทศต่างๆทั่วโลกผ่านสื่อต่างๆ ด้วยภาพลักษณ์และค่านิยมของวัฒนธรรมย่อยฮิปสเตอร์ที่มีลักษณะต่อต้านวัฒนธรรมกระแสหลัก (Mainstream Culture) หรือวัฒนธรรมป็อป (Pop Culture) ฮิปสเตอร์สามารถเข้าถึงวัยรุ่นได้โดยผ่านการรวมกลุ่มทางสังคมและความสนใจ ซึ่งรวมถึงวัยรุ่นในกรุงเทพมหานคร ที่มีการรวมกลุ่มกันโดยผ่านกระบวนการ Cut ‘n Mix จากกระแสวัฒนธรรม DIY ดนตรีอินดี้ และวัฒนธรรมย่อยฮิปสเตอร์จากโลกตะวันตก จนกลายมาเป็นวัฒนธรรมย่อยฮิปสเตอร์ที่มีอัตลักษณ์เฉพาะ ทั้งนี้ผู้วิจัยมีโอกาสได้ศึกษาบทความในหนังสือ Medium is The Message ของ Marshall McLuhan มีตอนหนึ่งกล่าวไว้ว่า “สื่อกลางคือข่าวสาร ดีไซน์ซึ่งหมายถึงสื่อกลาง ก็ควรมีเนื้อหาในตัวเองและทำหน้าที่พูดอะไรได้ไม่น้อยกว่าตัวหนังสือ” ดังนั้นงานวิจัยฉบับนี้จึงมีวัตถุประสงค์ในการศึกษาหาแนวทางการใช้องค์ประกอบในการออกแบบเรขศิลป์ของสื่อสิ่งพิมพ์ที่สื่อสารถึงอัตลักษณ์ของกลุ่มวัฒนธรรมย่อยฮิปสเตอร์ในกรุงเทพมหานคร งานวิจัยนี้เริ่มจากการศึกษาหาองค์ประกอบในการสร้างอัตลักษณ์ของฮิปสเตอร์ ซึ่งประกอบด้วยรูปแบบ (Style), ค่านิยม (Values), อุดมการณ์ (Ideologies) และวิถีชีวิต (Lifestyle) โดยกระบวนการวิจัยจะเน้นไปที่รูปแบบ(style) ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุด ในการสื่อสารอัตลักษณ์ของวัฒนธรรมวัยรุ่น (Youth Culture) จากนั้นจึงนำองค์ประกอบในการสร้างอัตลักษณ์เหล่านั้นมาวิเคราะห์หาบุคลิกภาพ แล้วจึงรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับองค์ประกอบของการออกแบบเรขศิลป์ของสื่ิอสิ่งพิมพ์ ได้แก่ กริด (Grid), การวางโครงสี (Color Schematic), ตัวอักษร (Typography) และภาพประกอบสิ่งพิมพ์ (Photography and Illustration) เพื่อนำไปทำแบบสอบถามให้ผู้เชี่ยวชาญทำการวิเคราะห์ ซึ่งผลที่ได้จะใช้เป็นแนวทางในการออกแบบเรขศิลป์ของสื่อสิ่งพิมพ์สำหรับวัฒนธรรมย่อยฮิปสเตอร์ในกรุงเทพมหานคร จากผลสรุปพบว่า องค์ประกอบในการออกแบบเรขศิลป์สื่อสิ่งพิมพ์ที่สามารถสื่อสารอัตลักษณ์ของฮิปสเตอร์ได้นั้นข้อสรุปออกมา 4 แนวทาง ได้แก่ แนวทางการออกแบบที่วิเคราะห์จากบุคลิกภาพของรูปแบบการแต่งกาย, รูปแบบการฟังดนตรี, ลักษณะทางจิตวิทยา และรูปแบบวิถีชีวิตและสุนทรียศาสตร์ ซึ่งการนำคำตอบมาใช้ในการกำหนดแนวทางการออกแบบเรขศิลป์นั้น สามารถทำได้โดยการพิจารณาที่ลักษณะเฉพาะของเนื้อหา แล้วเลือกใช้องค์ประกอบในการออกแบบเรขศิลป์ที่เหมาะสมกับเนื้อหานั้น ๆ ซึ่งท้ายที่สุดผู้วิจัยได้นำผลสรุปดังกล่าวมาเป็นแนวทางในการออกแบบเรขศิลป์สื่อสิ่งพิมพ์สำหรับวัฒนธรรมย่อยฮิปสเตอร์ โดยเลือกกรณีศึกษาเป็นนิตยสารอะเดย์ (A Day)