Abstract:
งานวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเชื่อมโยงของทรัพย์สินทางปัญญากับสุขภาวะ ในบริบทโลกาภิวัตน์อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างทรัพย์สินทางปัญญากับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในบริบทสังคมแห่งความเสี่ยง ศึกษารูปแบบของความเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้ป่วยเอดส์ที่ได้รับผลกระทบจากสิทธิบัตรยา ตลอดจนศึกษากระบวนการปรับตัวและการรับมือผลกระทบของระบบสิทธิบัตรยาในระดับนโยบายและระดับตัวบุคคล ซึ่งแนวคิดที่นำมาใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ แนวคิดเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ แนวคิดสังคมแห่งความเสี่ยง แนวคิดเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา แนวคิดทฤษฎีนโยบายการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และแนวคิดเรื่องสิทธิของผู้ป่วยเอดส์ งานวิจัยนี้ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ซึ่งผู้วิจัยใช้การวิจัยเป็นเชิงคุณภาพเพื่อดูรูปแบบของความสัมพันธ์ในเรื่องของ ทรัพย์สินทางปัญญา หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และสุขภาวะ โดยมองความเชื่อมโยงใน 2 บริบท คือ บริบทกระบวนการโลกาภิวัตน์ และบริบทของความเสี่ยง เพราะผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวข้างต้น สอดคล้องกับวิถีชีวิตประจำวันที่เราประสบ และในการวิจัยครั้งนี้ มีกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นผู้ให้ข้อมูลคนสำคัญ จำนวน 15 ท่าน ผลการวิจัยพบว่าในบริบทโลกาภิวัตน์ทรัพย์สินทางปัญญามีความเชื่อมโยงกับสุขภาวะอย่างชัดเจนในเรื่องของการเข้าถึงยาและบริการสุขภาพ โดยผ่านระบบการคุ้มครองในเรื่องของสิทธิบัตร ซึ่งผลการศึกษาพบว่าเป็นคุ้มครองเกินกว่าศักยภาพเทคโนโลยีและการพัฒนาประเทศ นอกจากนี้ยังพบว่าในสังคมปัจจุบันที่จัดเป็นสังคมความเสี่ยง ทรัพย์สินทางปัญญามีความสัมพันธ์กับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยโครงการหลักประกันสุขภาพระดับชาติ ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเมื่อพิจารณาในระดับหน่วยย่อย ก็คือ ประชาชนทุกคนที่จำเป็นต้องใช้ยา โดยเฉพาะยาที่มีสิทธิบัตร ทำให้งบประมาณด้านสุขภาพเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นถ้าการเปิดเสรีภาพทางการค้าส่งผลให้ยาราคาสูงอันเนื่องมาจากการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาด้วยระบบสิทธิบัตรที่เข้มงวดและนานเกินไป สุขภาพก็จะได้รับผลกระทบ ในสถานการณ์ปัจจุบันที่เป็นอยู่ ผลต่อเนื่องดังกล่าวจึงก่อความเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้ป่วยเอดส์ที่จำเป็นต้องเข้าถึงยาต้านไวรัสและบริการสุขภาพอย่างต่อเนื่องทำให้การเข้าถึงวิธีในการรักษาสุขภาพที่จะช่วยให้มีคุณภาพชีวิตทีดียากยิ่งขึ้น