Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ศึกษา "ความเป็นผู้หญิง" ในนิตยสารสตรีสาร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2491-2539 รวมทั้งสิ้น 576 ฉบับ โดยเลือกข้อมูลจากบทความแสดงความคิดเห็น ถ้อยแถลงหรือบทบรรณาธิการ และคอลัมน์ตอบจดหมายทั้งหมด 3,268 ตัวบท ผลการศึกษาพบว่า เมื่อศึกษาโครงสร้างของนิตยสารสตรีสารตามกรอบความคิด 3 มิติ วาทกรรมวิเคราะห์เชิงวิพากษ์ (CDA) ของแฟร์เคลาฟ์ (Fairclough) พบว่า ตัวบท แสดงให้เห็น "ความเป็นผู้หญิง" ซึ่งเป็นผลจากการที่ผู้ผลิต ได้แก่ บรรณาธิการและนักเขียน มีวัตถุประสงค์ให้ผู้หญิงมีการศึกษาและมีบทบาทสร้างสรรค์สังคม อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ผู้อ่านส่วนใหญ่ซึ่งเป็นผู้หญิงได้แสดงความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ผ่านจดหมาย ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคดังกล่าว ถือเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการทางวาทกรรม โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับผู้บริโภคมากกว่าผลประโยชน์ทางธุรกิจ ถือเป็นจุดเด่นของนิตยสารสตรีสาร และการศึกษาตามกรอบบริบททางสังคมภายนอกหรือปฏิบัติการทางสังคมวัฒนธรรม ทำให้เห็นว่าสภาวะทางสังคมและเศรษฐกิจในช่วงเวลา 48 ปี ตั้งแต่เริ่มผลิตนิตยสารจนปิดกิจการ มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ส่งผลให้ผู้หญิงมีบทบาทนอกบ้านมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทั้งนี้ย่อมมีผลต่อการผลิตตัวบทในนิตยสารสตรีสารด้วย จากการวิเคราะห์กลวิธีทางภาษา พบ 9 กลวิธี ได้แก่ การเลือกใช้คำศัพท์ การใช้ทัศนะภาวะการอ้างถึง การใช้คำถามวาทศิลป์ การใช้สำนวน การใช้อุปลักษณ์ การใช้ถ้อยคำนัยผกผัน การใช้มูลบท และการใช้สหบท ซึ่งสะท้อนความคิดเกี่ยวกับผู้หญิงโดยจำแนกเป็น 3 ความคิด ความคิดแรก ได้แก่ ความงามแบ่งเป็นความงามของร่างกายและการตกแต่งร่างกาย ความคิดที่สอง ได้แก่ พฤติกรรม แบ่งเป็นพฤติกรรมระหว่างเพศและพฤติกรรมการแสดงออกและอารมณ์ความรู้สึก ส่วนความคิดสุดท้าย ได้แก่ การทำหน้าที่แบ่งเป็นการทำหน้าที่ในบ้านและการทำหน้าที่นอกบ้าน ทั้ง 3 ความคิดดังกล่าวได้สะท้อนอุดมการณ์ที่สำคัญ 2 อุดมการณ์ คือ อุดมการณ์ปิตาธิปไตยและอุดมการณ์สตรีนิยม ได้แก่ เรื่องของความงาม ทำให้เห็นว่าผู้หญิงจะต้องมีความงามและจัดการให้ตัวเองงามได้มีพฤติกรรมที่ตกเป็นรองผู้ชายหรือเป็นผู้รับ และยังมีบทบาทหน้าที่ในการเป็นแม่และเมีย ผลการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่านิตยสารสร้างความเป็นผู้หญิงเพื่อรับใช้ผู้ชายสะท้อนการครอบงำทางความคิดของอุดมการณ์ปิตาธิปไตย ขณะที่บางความคิดสะท้อนให้เห็นว่า ผู้หญิงสามารถศึกษาหาความรู้เพื่อพัฒนาตนเอง และมีบทบาทในการทำงานหรือทางสังคมเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นกรอบความคิดของอุดมการณ์สตรีนิยมที่พยายามเรียกร้องให้ผู้หญิงสามารถพึ่งพาตัวเองได้