Abstract:
วัตถุประสงค์ วัตถุประสงค์ของการศึกษานี้มี 2 ข้อ คือ หนึ่งเพื่อเปรียบเทียบการประเมินพูดที่ฟังได้รู้เรื่องโดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์กับวิธีดั้งเดิมในผู้ที่มีการออกเสียงปกติและผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ และสองเพื่อเปรียบเทียบผลการออกเสียงในผู้ที่มีการออกเสียงปกติและผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ก่อนและหลังการผ่าตัดปิดรูทะลุช่องปาก-จมูกโดยใช้คะแนนรู้จำเสียงพูดและคะแนนคำพูดที่ฟังได้รู้เรื่อง วัสดุและวิธีการ ผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่จำนวน 20 คน ซึ่งได้รับการผ่าตัดปิดรูทะลุช่องปาก-จมูก อายุเฉลี่ย 12.70 ± 4.39 ปี และผู้ที่มีการออกเสียงปกติจำนวน 10 คน อายุใกล้เคียงกับกลุ่มผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ โดยผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่จะได้รับการบันทึกเสียงก่อนผ่าตัด 1 วันและหลังผ่าตัด 3 เดือน ในขณะที่ผู้ที่มีการออกเสียงปกติจะได้รับการบันทึกเสียงวันละ 1 ครั้งเป็นเวลา 3 วัน เสียงที่บันทึกจะถูกวิเคราะห์เป็นคะแนนรู้จำเสียงพูด (speech recognition score) โดยใช้ระบบรู้จำเสียงพูดอัตโนมัติ สำหรับการประเมินการออกเสียงโดยวิธีดั้งเดิม เสียงที่บันทึกจะแต่ละเสียงจะถูกประเมินโดยผู้ฟัง 3 คน แล้วหาค่าเฉลี่ยเป็นคะแนนคำพูดที่ฟังได้รู้เรื่อง (Speech intelligibility score) ของผู้ป่วยแต่ละราย จากนั้นคำนวณความเที่ยงของคะแนนรู้จำเสียงพูดและประเมินความสัมพันธ์ระหว่างคะแนนรู้จำเสียงพูดและคะแนนคำพูดที่ฟังได้รู้เรื่องในกลุ่มผู้ที่มีการออกเสียงปกติและผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ นอกจากนั้น ประเมินผลการออกเสียงหลังผ่าตัดทั้งคะแนนรู้จำเสียงพูดและคะแนนคำพูดที่ฟังได้รู้เรื่อง ผลการศึกษา ในกลุ่มผู้ที่มีการออกเสียงปกติ ไม่พบความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติของค่าคะแนนรู้จำเสียงพูดที่บันทึก 3 วัน นอกจากนั้นมีคะแนนรู้จำเสียงพูดเฉลี่ยสัมพันธ์กับคะแนนคำพูดที่ฟังได้รู้เรื่องอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.708, 0.022) ในกลุ่มผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ มีคะแนนรู้จำเสียงพูดสัมพันธ์กับคะแนนคำพูดที่ฟังได้รู้เรื่องทั้งก่อนและภายหลังผ่าตัด (r=0.821, p=0.000 และ r=0.741, p=0.000 ตามลำดับ) และมีคะแนนรู้จำเสียงพูดและคะแนนคำพูดที่ฟังได้รู้เรื่องเพิ่มขึ้นภายหลังการผ่าตัด (p=0.002 และ 0.023 ตามลำดับ) อย่างไรก็ตาม ยังมีคะแนนรู้จำเสียงพูดและคะแนนคำพูดที่ฟังได้รู้เรื่องน้อยกว่าผู้ที่มีการออกเสียงปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (0.000 และ 0.028 ตามลำดับ) สรุป การประเมินการออกเสียงในผู้ที่มีการออกเสียงปกติและผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่โดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์สามารถเทียบเคียงกับการประเมินโดยวิธีการฟังได้ และผลการออกเสียงโดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์และวิธีการฟังหลังผ่าตัดดีขึ้นกว่าก่อนผ่าตัดแต่ยังคงดีไม่เท่ากับผู้ที่มีการออกเสียงปกติ