Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความชุกและปัจจัยเสี่ยงทางชีวจิตสังคมของอาการปวดบริเวณขมับ ขากรรไกร คอ และไหล่ในผู้ใช้คอมพิวเตอร์ในสำนักงานของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการสัมภาษณ์ด้วยแบบสอบถามและวัดค่าแรงกดที่เริ่มรู้สึกเจ็บของกล้ามเนื้อในผู้ใช้คอมพิวเตอร์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจำนวนทั้งสิ้น 356 คน ผลการศึกษาพบว่า ความชุกของอาการปวดขมับ หน้าหู ขากรรไกร คอ หรือไหล่ในระยะเวลา 12 เดือนที่ผ่านมาเท่ากับร้อยละ 74.7 โดยอาการปวดไหล่มากที่สุด (ร้อยละ 50.8) ตามมาด้วยอาการปวดขมับ (ร้อยละ 48.9) คอ (ร้อยละ 36.0) หน้าหู (ร้อยละ 6.7) และขากรรไกร (ร้อยละ 5.1) ตามลำดับ สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่สัมพันธ์กับอาการปวดขมับ หน้าหู คอและไหล่คือ การเล่นกีฬาที่มีการกระทบกระทั่ง การนอนไม่หลับ ระยะเวลาที่ใช้คอมพิวเตอร์มามากกว่า 5 ปี งานเรียกร้องทางกายสูง งานเรียกร้องทางใจสูง ความมั่นคงในงานสูงและแรงกดที่เริ่มรู้สึกเจ็บต่ำที่กล้ามเนื้อแมสซีเตอร์ อินเซอร์ชั่นขวา ในการศึกษานี้ไม่พบปัจจัยที่สัมพันธ์กับอาการปวดขากรรไกร จากการศึกษานี้สามารถสรุปได้ว่าผู้ใช้คอมพิวเตอร์มีอาการปวดขมับ หน้าหู ขากรรไกร คอ ไหล่ ซึ่งสัมพันธ์กับปัจจัยทางชีวจิตสังคมบางตัวซึ่งควรมีการศึกษาปัจจัยเหล่านี้ต่อไป