Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้มุ่งศึกษาความเปลี่ยนแปลงของเรื่องสั้นไทยจำนวน 101 เรื่องตั้งแต่ พ.ศ. 2507-2516 ทั้งในด้านรูปแบบและเนื้อหา ผลการวิจัยสรุปได้ว่า เรื่องสั้นเหล่านี้แสดงการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นแบบสมัยใหม่ สถาบันและค่านิยมในสังคม รวมทั้งการปกครองแบบเผด็จการ แก่นเรื่องที่พบจำนวนมาก คือ ความแปลกแยก ความหม่นหมอง ความสิ้นหวัง ซึ่งเป็นปฏิกิริยาที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมเมืองสมัยใหม่ มีการสร้างอุปลักษณ์ของเมืองในลักษณะของที่คุมขังเพื่อแสดงว่าชีวิตในเมืองทำให้มนุษย์ได้ถูกลดคุณค่าลงไป เกิดการตั้งปัญหาเกี่ยวกับอัตลักษณ์และความหมายของชีวิต ในด้านรูปแบบ เกิดวิกฤตของการนำเสนอภาพความจริง มีการปฏิเสธการเขียนด้วยกลวิธีแบบสัจนิยมด้วยเห็นว่าไม่สอดคล้องกับสังคมสมัยใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป ปรากฏการทำลายเอกภาพและความเป็นเหตุเป็นผลของโครงเรื่อง เรื่องสั้นเปลี่ยนไปนำเสนองานที่เน้นการสำรวจตัวตนภายในโดยใช้เทคนิคการเขียนที่หลากหลาย และใช้แนวการเขียนแบบทดลองที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะงานกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จึงสนใจเสนอรูปแบบการเขียนที่สลับซับซ้อนและท่วงทำนองที่ล้ำสมัย การเปลี่ยนแปลงเนื้อหาและรูปแบบดังกล่าวแสดงให้เห็นว่านักเขียนไทยได้รับอิทธิพลจากวรรณกรรมคตินิยมสมัยใหม่ของตะวันตก เรื่องสั้นไทยแนวคตินิยมสมัยใหม่แสดงลักษณเฉพาะที่แตกต่างกับตะวันตก เพราะแสดงนัยทางการเมืองที่แสดงปฏิกิริยาต่อต้านการปกครองแบบเผด็จการ ปฏิกิริยาดังกล่าวมีสองระยะ ในระยะแรกช่วง พ.ศ. 2507-2512 เป็นงานเขียนที่เน้นอัตวิสัยเพื่อหนีจากสังคมที่ปิดกั้นความคิดของรัฐเผด็จการ ระยะที่สอง พ.ศ. 2513-2516 เป็นงานแนวทดลองโดยเสนอการแตกออกเป็นส่วนๆ ทั้งในระดับโครงเรื่องและมุมมองที่พบมากในวรรณกรรมและศิลปะคตินิยมสมัยใหม่ รวมทั้งภาพยนตร์การเปลี่ยนแปลงแนวการเขียนดังกล่าวมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ที่ชี้ให้เห็นว่าสังคมไทยกำลังเข้าสู่จุดวิกฤตทางการเมืองและสังคม