Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์และเปรียบเทียบความแตกต่างของรูปแบบระดับเสียงในคำที่ไม่ใช่คำยืมไทในภาษามัล 4 วิธภาษาและภาษาไปร 1 วิธภาษาตามพยัญชนะต้น พยัญชนะท้าย และโครงสร้างพยางค์โดยวิธีการทางกลสัทศาสตร์ และรูปแบบระดับเสียงของคำยืมไทและคำคู่เทียบเสียงในภาษามัล 4 วิธภาษาและภาษาไปร 1 วิธภาษา โดยเก็บข้อมูล 5 จุด ได้แก่ ภาษามัลบ้านเกวต (MK) ภาษามัลบ้านภูกอก (MPK) ภาษามัลบ้านตาหลวง (MTL) ภาษามัลบ้านยอดดอยวัฒนา (MYW) และภาษาไปรบ้านห้วยล้อม (PHL) เก็บข้อมูลจากผู้บอกภาษาเพศหญิงวิธภาษาละ 3 คน อายุ 30 ปีขึ้นไป โดยให้ผู้บอกภาษาออกเสียงคำตัวอย่างซึ่งเป็นคำพยางค์เดียว 3 ครั้ง ในการบันทึกเสียงใช้โปรแกรม Adobe Audition เวอร์ชั่น 2 จากนั้นจึงวิเคราะห์คำทดสอบทั้งสิ้น 6,003 คำ โดยใช้โปรแกรม Praat เวอร์ชั่น 4.5.24 และโปรแกรมเสริมในการหาค่าความถี่มูลฐาน การวิเคราะห์ค่าทางสถิติใช้โปรแกรม SPSS เวอร์ชั่น 13.0
ผลการวิจัยพบว่า การเปลี่ยนแปลงของเสียงในภาษาดั้งเดิมมาเป็นเสียงในภาษาปัจจุบันดูเหมือนว่าไม่ได้ส่งผลโดยตรงต่อรูปแบบระดับเสียงโดยรวมในภาษามัลและภาษาไปร โดยรูปแบบระดับเสียงที่พบในแต่ละวิธภาษาต่างก็มีรูปแบบเฉพาะของตนเองที่ไม่ได้ถูกกำหนดด้วยเงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงหรือไม่เปลี่ยนแปลงของเสียงพยัญชนะต้น พยัญชนะท้าย และสระ อย่างไรก็ดี พบว่าในวิธภาษา MK MTL และ MYW ระดับเสียงขึ้นกับโครงสร้างพยางค์ คือ ระดับเสียงสูงตกในพยางค์เป็น กับ ระดับเสียงสูงระดับในพยางค์ตาย ขณะที่วิธภาษา MPK และ PHL โครงสร้างพยางค์ไม่มีอิทธิพลต่อระดับเสียง เมื่อวัดค่าความถี่มูลฐานของคำยืมไทกับคำคู่เทียบเสียงและคำพ้องเสียง 3 กลุ่ม คือ คำยืม-คำยืม คำยืม-คำมัล หรือ คำยืม-คำไปร และ คำมัล-คำมัล หรือ คำไปร-คำไปร พบว่า พฤติกรรมของค่าความถี่มูลฐานสามารถแบ่งวิธภาษาออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ภาษาไม่มีวรรณยุกต์ (วิธภาษา MK MPK และ PHL) และภาษาวรรณยุกต์ (วิธภาษา MTL และ MYW) ในกลุ่มภาษาไม่มีวรรณยุกต์ พบว่า ระดับเสียงในคำพ้องเสียงทั้ง 3 กลุ่มจะมีระดับเสียงเดียวกัน ส่วนในกลุ่มภาษาวรรณยุกต์ พบว่า ระดับเสียงในคำคู่เทียบเสียงทั้ง 3 กลุ่มมี 2 ระดับเสียง ซึ่งใช้จำแนกความหมายของคำ คือ ระดับเสียงสูง (สูงตก และ สูงระดับ) และระดับเสียงต่ำ (ต่ำขึ้น) ดังนั้น จะเห็นได้ว่าวิธภาษา MTL และ MYW เป็นภาษาวรรณยุกต์ โดยมีวรรณยุกต์ 2 หน่วยเสียง คือ /สูง/ และ /ต่ำ/ นอกจากนี้ พบว่า 2 หน่วยเสียงวรรณยุกต์ดังกล่าว ถูกกำหนดให้กับคำยืม แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ วรรณยุกต์สูง ในคำยืมไทที่มีวรรณยุกต์กลางขึ้น วรรณยุกต์สูงระดับ และวรรณยุกต์สูงตก กับ วรรณยุกต์ต่ำ ในคำยืมไทที่มีวรรณยุกต์ต่ำขึ้น วรรณยุกต์กลางระดับ และวรรณยุกต์กลางตก
ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าเส้นทางการกำเนิดวรรณยุกต์ในภาษามัลบางวิธภาษาในอดีตเป็นเพราะได้รับอิทธิพลจากคำยืมไท (คำเมืองถิ่นน่าน) จากการสัมผัสภาษา โดยยืมสัทลักษณะเด่นของวรรณยุกต์คำเมืองถิ่นน่าน คือเสียง “ขึ้น” และกำหนดระดับเสียงขึ้นให้คำยืม ต่อมาได้กระจายไปสู่คำมัลด้วย อย่างไรก็ตาม ปัจจัยภายใน ได้แก่ ค่าความถี่มูลฐานธรรมชาติของสระ ค่าความถี่มูลฐานของสระเมื่ออยู่หลังพยัญชนะต้น และค่าความถี่มูลฐานของสระเมื่ออยู่หน้าพยัญชนะท้าย สามารถแสดงให้เห็นทิศทางหรือแนวโน้มของพัฒนาการของวรรณยุกต์ในวิธภาษาที่เป็นภาษาวรรณยุกต์ และพัฒนาการของรูปแบบระดับเสียงไปเป็นวรรณยุกต์ในวิธภาษาที่ไม่มีวรรณยุกต์ได้เช่นกัน