Abstract:
การจำแนกและระบุชนิดของโพรติสต์ถล่มซิลิเอตที่ถูกต้องบ่อยครั้งต้องอาศัยความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญหรือการใช้เทคนิคพิเศษช่วยในการศึกษา เช่น การย้อมสี และ การศึกษาภายใต้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน งานวิจัยชิ้นนี้ศึกษาศักยภาพในการใช้วิธีการทางสัณฐานวิทยาร่วมกับวิธีการทางอณูชีววิทยาในการระบุชนิดของซิลิเอตที่อาศัยอยู่ตามช่องว่างระหว่างเม็ดทรายหน้าดินบริเวณชายฝั่งทะเล โดยทำการเก็บตัวอย่างทรายจากพื้นที่หาดลูกลม เกาะแสมสาร จังหวัดชลบุรี ระหว่างปี 2554-2555 ทำการสกัดโพรติสต์กลุ่มซิลิเอตออกจากทรายตัวอย่างโดยการไล่ด้วยน้ำทะเลแข็ง จากนั้นทำการสำรวจตัวอย่างภายใต้กล้องจุลทรรศน์เลนส์ประกอบแบบใช้แสงและเพาะเลี้ยงซิลิเอตบางส่วนด้วยอาหารเลี้ยงเชื้อ f/2-Si เพื่อใช้ศึกษาในขั้นต่อไป จากการศึกษาพบซิลิเอตจำนวน 46 ชนิด ได้แก่ Aspidisca sp., Blepharisma sp., Coleps pulcher, Coleps tesselatus, Coleps sp., Condylostoma arenarium, Condylostoma enigmatica, Diophrys sp., Euplotes sp. 1-3, Euplotidium sp., Frontonia sp., hypotrichs 01-05, karyorelicteans 01-16, Kentrophoros sp., Litonotus sp., Loxodes sp. 1-3, Loxophyllum sp., Mesodinium sp., Pleuronema sp. Protocruzia sp., Stichotricha sp., Uronema sp. และ Uronychia sp. อีกทั้งสามารถเพาะเลี้ยงซิลิเอตจนบริสุทธิ์ได้จำนวน 8 สายพันธุ์ ซึ่งอยู่ในสกุล Euplotes จำนวน 2 สายพันธุ์, Protocruzia 1 สายพันธุ์ และ Uronema 3 สายพันธุ์ นำซิลิเอตที่บริสุทธิ์จำนวน 5 สายพันธุ์ คือ Euplotes และ Uronema มาศึกษาเพิ่มเติมในระดับอณูชีววิทยา การเพิ่มจำนวนยีนด้วยเทคนิคพีซีอาร์และหาลำดับนิวคลีโอไทด์ด้วยไพรเมอร์ที่ออกแบบใหม่สำหรับยีนไรโบโซมอลดีเอ็นเอของซิลิเอตทั้ง 5 สายพันธุ์ โดยบริเวณที่เพิ่มจำนวนนี้จะครอบคลุมส่วนของสมอลซับยูนิตไรโบโซมอลดีเอ็นเอ, internal transcribed spacer 1 (ITS1), 5.8S, internal transcribed spacer 2 (ITS2) และ 1,300 คู่เบสแรกของลาร์จซับยูนิตไรโบโซมอลดีเอ็นเอ การวิเคราะห์ลำดับนิวคลีโอไทด์บางส่วนของลาร์จซับยูนิตไรโบโซมอลดีเอ็นเอ พบว่า Euplotes 2 สายพันธุ์ที่ทำการศึกษามีลำดับนิวคลีโอไทด์ต่างกันถึง 43 ตำแหน่ง ซึ่งตรงกับลักษณะรูปร่างของทั้งสองสายพันธุ์ที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน สำหรับ Uronema ทั้ง 3 สายพันธุ์ พบว่ามีลำดับนิวคลีโอไทด์เหมือนกัน 100% สอดคล้องกับการตรวจศึกษาภายใต้กล้องจุลทรรศน์ที่แสดงรูปร่างที่คล้ายคลึงกัน การศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการใช้ข้อมูลทางสัณฐานวิทยาร่วมกับข้อมูลทางอณูชีววิทยาในการแยกและระบุชนิดของซิลิเอตที่อาศัยอยู่ตามช่องว่างระหว่างเม็ดทราบชายฝั่งทะเล อย่างไรก็ตาม ควรมีการศึกษาตัวอย่างซิลิเอตในกลุ่มอื่นเพิ่มเติมและศึกษาลำดับนิวคลีโอไทด์บริเวณอื่นของไรโบโซมอลดีเอ็นเอเพื่อยืนยันถึงศักยภาพในการประยุกต์ใช้สูงสุดของการรวมสองวิธีนี้เข้าด้วยกันในการระบุชนิดของซิลิเอต