Abstract:
วัตถุประสงค์ของการศึกษาครั้งนี้เพื่อศึกษาผลของสมุนไพรเหงือกปลาหมอดอกขาวที่สกัดด้วยน้ำต่อการเจริญเติบโตและการเกิดหลอดเลือดใหม่ของมะเร็งปากมดลูก โดยทำการศึกษาในหลอดทดลองเพื่อทดสอบผลการยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็ง และทำการศึกษาในหนูนูดไมซ์ที่ได้รับการปลูกถ่ายเซลล์มะเร็งปากมดลูกใต้ชั้นผิวหนัง โดยเซลล์มะเร็งปากมดลูกที่ใช้เป็นชนิดที่บรรจุสารชีวะพันธุกรรมของฮิวแมนปาปิลโลมาไวรัส ชนิด 16 (Human papillomavirus type 16, (HPV)-16 DNA) และศึกษาผลของสารสกัดสมุนไพรเหงือกปลาหมอต่อชีวะโมเลกุลที่บ่งชี้การเกิดหลอดเลือดใหม่ของมะเร็ง และการตายของเซลล์มะเร็ง ได้แก่ VEGF และ P53 การศึกษาผลของสารสกัดสมุนไพรเหงือกปลาหมอดอกขาวต่อการยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งคือ เซลล์มะเร็งปากมดลูก CaSki (HPV-16 positive) เปรียบเทียบกับเซลล์ปกติคือเซลล์ผิวหนังของมนุษย์ HDFs โดยวิธีที่ใช้ในการทดสอบคือ Trypan blue exclusion method และ MTT assay ผลการทดสอบในหลอดทดลองพบว่า สารสกัดไม่มีพิษเฉียบพลันหรือทำลายเซลล์โดยตรงต่อเซลล์ทุกชนิดเมื่อให้สารสกัดเป็นเวลา 3 ชั่วโมง และมีฤทธิ์อย่างอ่อนในการยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งปากมดลูกชนิด CaSki โดยใช้ความเข้มข้นในการทำให้เซลล์ตาย 50% น้อยกว่าการยับยั้งเซลล์ปกติ (p<0.05) การศึกษาในสัตว์ทดลองใช้หนูนูดไมซ์สายพันธุ์ BALB/c เพศเมีย น้ำหนัก 20-25 กรัม และอายุระหว่าง 5-6 สัปดาห์ โดยแบ่งหนูทดลองออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือกลุ่มที่ได้รับการปลูกถ่ายเซลล์มะเร็งปากมดลูก (HPV group) โดยการฉีดเซลล์ CaSki จำนวน 1x10⁷ เซลล์ในอาหารเลี้ยงเซลล์ 200 ไมโครลิตร เข้าใต้ผิวหนังบริเวณกลางหลัง ส่วนกลุ่มควบคุม (Con group) ใช้อาหารเลี้ยงเซลล์ที่ปราศจากเซลล์มะเร็งฉีดเข้าที่ใต้ชั้นผิวหนังในปริมาณที่เท่ากัน หลังจากนั้นหนึ่งสัปดาห์จะสามารถสังเกตเห็นตุ่มนูนขนาดเล็กของมะเร็งปรากฎขึ้นที่ชั้นใต้ผิวหนัง และสัตว์ทดลองจะถูกป้อนด้วยสารสกัดสมุนไพรเหงือกปลาหมอ (AE) ขนาด 300 และ 3,000 มก/นน. กก./วัน/0.2 มล. เป็นระยะเวลา 14 และ 28 วัน (กลุ่ม Con-AE และ HPV-AE) หนูกลุ่มควบคุมได้รับน้ำกลั่นในปริมาตร และระยะเวลา 14 และ 28 วัน (กลุ่ม Con-AE และ HPV-AE) หนูกลุ่มควบคุมได้รับน้ำกลั่นในปริมาตร และระยะเวลาเท่ากัน (กลุ่ม Con-Veh และ HPV-Veh) และเมื่อสิ้นสุดให้สารสกัดสมุนไพร ทำการศึกษาการเกิดหลอดเลือดใหม่ของมะเร็งภายใต้กล้อง confocal fluorescence microscope ด้วยใช้การฉีดสารเรืองแสงเข้าทางหลอดเลือดดำจูกูลาร์ เมื่อสิ้นสุดการทดลองชิ้นเนื้อมะเร็งถูกเก็บเพื่อวัดขนาด และศึกษาพยาธิวิทยาภายใต้กล้องจุลทรรศน์ขนาดเล็กโดยใช้เทคนิค Hematoxyline&Eosin (H&E) และตรวจอิมมูโนพยาธิวิทยาเพื่อศึกษาการแสดงออกของ VEGF และ p53 ในเนื้อเยื่อมะเร็ง ผลการทดสอบในหนูที่ได้รับการปลูกเซลล์มะเร็งปากมดลูก พบว่าผลการทดลองจากภาพส่องกราดสารเรืองแสง สังเกตพบโครงข่ายของหลอดเลือดขนาดเล็กบริเวณรอบก้อนมะเร็งเป็นจำนวนมากภายหลังการปลูกเซลล์มะเร็งในวันที่ 21 และ 35 และเมื่อวิเคราะห์ความหนาแน่นของหลอดเลือด (CV) พบว่าในกลุ่ม HPV-Veh มีค่า %CV เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่ม Con-Veh (P<0.001) และเมื่อให้สารสกัดสมุนไพรในขนาดสูง (3,000 มก./นน.กก.) เป็นเวลา 14 และ 28 วัน พบว่าค่า %CV ที่เพิ่มขึ้นนั้นลดลง (P<0.001) อีกทั้งปริมาตรของก้อนมะเร็งมีค่าน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับสารสกัด (HPV-Veh) และพบการแสดงออกของ VEGF ในเนื้อเยื่อมะเร็งสูงกว่ากลุ่มควบคุม (Con) และพบว่าสารสกัดในขนาดสูงทำให้ระดับของ VEGF ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.001) นอกจากนั้นสารสกัดยังทำให้เพิ่มการแสดงออกของโปรตีน p53 ในเนื้อเยื่อมะเร็ง (HPV-AE) มากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับสารสกัด (HPV-Veh) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.001) สรุปได้ว่าสารสกัดสมุนไพรเหงือกปลาหมอมีคุณสมบัติยับยั้งการเจริญเติบโตของมะเร็ง และยับยั้งการเกิดหลอดเลือดใหม่ในมะเร็งปากมดลูกโดยกลไกการออกฤทธิ์ผ่านการยับยั้งการแสดงออกของ VEGF และการเพิ่มขึ้นของ p53