Abstract:
วัตถุประสงค์ของการศึกษานี้เพื่อประเมินรูปแบบการดื้อยาของเชื้อมัยโคพลาสมา ที่แยกได้จากสุกรที่อายุแตกต่างกัน และ แสดงรูปแบบลายนิ้วมือดีเอนเอของเชื้อที่มีการระบาดในฟาร์มและช่วงเลาที่ศึกษา เชื้อ Mycoplasma spp. จำนวน 209 เชื้อ แบ่งเป็น M. hyosynoviae, M. hyopneumoniae, และ M. hyorhinis จำนวน 13, 26, และ 170 เชื้อตามลำดับ ประเมินค่าความไวรับด้วยวิธี broth microdilution ต่อยาต้านจุลชีพ 6 ชนิด ได้แก่ doxycycline, tiamulin, valnemulin, tylosin, enrofloxacin และ lincomycin ทำการประเมินความหลากหลายทางพันธุกรรมด้วยวิธี pulsed field gel electrophoresis เลือกเชื้อตัวแทนจากทุกกลุ่มตามความแตกต่างของพื้นที่ และช่วงอายุสุกร วิเคราะห์ความสัมพันธ์ของประวัติการใช้ยา รูปแบบการดื้อยา และรูปแบบลายนิ้วมือดีเอนเอ ในห้องปฏิบัติการยาต้านจุลชีพที่มีประสิทธิภาพสูงสุด tiamulin และ valnemulin รองลงมาคือ doxycycline และ lincomycin ส่วนเชื้อมัยโคพลาสมาดื้อต่อ enrofloxacin และ tylosin ในระดับสูง (ประมาณ 40 %) และรูปแบบการดื้อยาไม่สัมพันธ์กับสูตรการให้ยาต้านจุลชีพในฟาร์ม พบรูปแบบลายนิ้วมือดีเอนเอตั้งแต่ 4 รูปแบบขึ้นไป เชื้อ M. hyopneumoniae สายพันธุ์ A และ M. hyosynoviae สายพันธุ์ B เป็นสายพันธุ์หลักที่มีการระบาดในพื้นที่ที่ศึกษาประเทศไทย ส่วนเชื้อ M. hyorhinis มีความหลายหลายสูงแต่ไม่มีความจำเพาะในพื้นที่ที่สำรวจ เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มสุกรขุน/สุกรอนุบาล และระหว่างการเก็บตัวอย่างต่างช่วงเวลา รูปแบบการให้ยาต้านจุลชีพในระบบการผลิตสุกรของประเทศไทยไม่มีความสัมพันธ์กับรูปแบบการดื้อยา และไม่มีผลต่อการเร่งอัตราการดื้อยาในช่วงเวลาที่สำรวจ การศึกษานี้จึงเป็นข้อมูลแย้งที่สำคัญว่าเชื้อดื้อยาที่ระบาดในมนุษย์อาจไม่ได้มีสาเหตุจากการจัดการทางปศุสัตว์ แต่อาจเป็นเพียงการแสดงออกพื้นฐานของสายพันธุกรรมดั้งเดิมของเชื้อมัยโคพลาสมาในช่วงเวลาปัจจุบัน และสายพันธุ์ที่มีการระบาดในประเทศไทยมีความแข็งแรงมากพอที่จะคงอัตตลักษณ์หรือแบบแผนการแสดงออกในช่วงเวลาที่ศึกษา