Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งที่จะศึกษาอัตลักษณ์“ฝรั่ง” และการสร้างจินตนาการเรื่องเมืองไทยในนวนิยายตะวันตกร่วมสมัยจำนวน 8 เรื่อง จากการศึกษาพบว่าการสร้างจินตนาการเรื่องเมืองไทยอันเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างอัตลักษณ์ “ฝรั่ง” โดยผ่านกลวิธีการประพันธ์ที่ใช้โครงเรื่องเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงแรก ตัวละครเอกชาย “ฝรั่ง” ต้องเดินทางออกจากบ้านเกิดด้วยสาเหตุต่างๆ ช่วงที่สอง ตัวละครต้องเผชิญกับสิ่งแปลกใหม่ เพื่อสื่อให้เห็นถึงการ “ปรับเปลี่ยน” ของตัวละคร และช่วงที่สาม เป็นการตัดสินใจของตัวละครหลังจากการเดินทาง สำหรับการสร้างอัตลักษณ์ “ฝรั่ง” ที่ผ่านความสัมพันธ์ของตัวละครที่เป็น “คู่รัก” ระหว่างผู้ชาย “ฝรั่ง” และผู้หญิงบาร์ ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่พัฒนามาจากการซื้อและขายบริการภายใต้พื้นที่ “red light zone” ซึ่งสตรีไทยมักมองผู้ชาย “ฝรั่ง” เป็นเพียงแหล่งรายได้และการให้บริการต่างๆ เป็นเพียงแค่หน้าที่ แต่ผู้ชายฝรั่งกลับมองเป็นความ“รัก” ส่วนการสร้างจินตนาการเรื่องพื้นที่ของเมืองไทยจะใช้พื้นที่ “red light zone” ผ่านบาร์ที่มีตัวละครผู้ชาย“ฝรั่ง” ใช้เป็นพื้นที่ในการแสวงหา “ความสุขและความบันเทิง” ยามค่ำคืน และพื้นที่ของสถานที่พักจะถูกใช้เป็น “ชุมชนฝรั่ง” เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และดำเนินชีวิตในตอนกลางวัน นอกจากนี้พื้นที่ภายนอกพื้นที่ ”red light zone” จะใช้บ้านเกิดของหญิงไทยให้เป็นพื้นที่สำหรับผู้ชาย“ฝรั่ง”ได้เป็น“ผู้เรียนรู้” สิ่งต่างๆ พื้นที่ที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวถูกใช้เป็นสถานที่ “พักผ่อน” และยังมีพื้นที่ของกรุงเทพมหานครหรือเมืองไทยซึ่งถูกสร้างให้เป็นพื้นที่ “อันตราย” ซึ่งเต็มไปด้วยความวุ่นวายและอาชญากรรม