Abstract:
ริเกอร์เรียกปรัชญาของตนว่า "ศาสตร์แห่งการตีความเกี่ยวกับตัวตน" เนื่องจากศาสตร์แห่งการตีความเป็นทางสู่ความเข้าใจอันหมายถึงความเข้าใจตัวตน คำถามที่เป็นตัวกำกับแนวทางการศึกษา ได้แก่ คำถามว่า ใครเป็นผู้พูด ใครกระทำ ใครเล่าเรื่องราวของตนเอง และใครรับผิดชอบคำตอบคือ ตัวตน ในกรอบทฤษฎีเรื่องเล่านั้น ริเกอร์เสนอมโนทัศน์อัตลักษณ์เชิงเรื่องเล่าเพื่อเป็นทางออกให้แก่ปัญหาปฏิทรรศน์อัตลักษณ์ของบุคคล สำหรับริเกอร์แล้ว ปัญหาปฏิทรรศน์อัตลักษณ์ของบุคคลเกิดจากการที่นักปรัชญาส่วนมากที่ถกเถียงปัญหาไม่ตระหนักถึงความแตกต่างระหว่างความหมายของอัตลักษณ์ 2 อย่าง อันได้แก่ อัตลักษณ์ในความหมายของความเป็นสิ่งเดียวกัน (sameness หรือ idem) และอัตลักษณ์ในความหมายของความเป็นตัวตน (selfhood หรือ ipse) ในการถกเถียงปัญหาดังกล่าว ริเกอร์แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์แบบวิภาษระหว่างอัตลักษณ์ทั้ง 2 แบบในกรอบของการทำงานของโครงเรื่อง ซึ่งประกอบเป็นอัตลักษณ์เชิงเรื่องเล่า ไม่ต่างจากอัตลักษณ์ของตัวละครที่แสดงบทบาทในเรื่องแต่ง อัตลักษณ์เชิงเรื่องเล่ากลายมาเป็นอัตลักษณ์ของบุคคลผ่านการอ่าน อย่างไรก็ตาม ริเกอร์เองยอมรับว่าปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างเรื่องแต่งกับชีวิตนั้นเป็นปัญหาค้างคา ซึ่งจะพิจารณาในวิทยานิพนธ์ฉบับนี้