Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและส่งเสริมการเดินเท้าจากบริเวณช่วงถนนอโศก ที่มีระบบขนส่งมวลชนบริเวณต้นถนนและปลายถนน ทั้งสามระบบ ได้แก่ ระบบรถไฟฟ้า BTS ระบบรถไฟฟ้า MRT และระบบเรือ โดยศึกษาการใช้พื้นที่ทางเท้าและพื้นที่ว่างสาธารณะ ของภาครัฐบาลและเอกชน บริเวณย่านพานิชยกรรมอโศก ณ ปัจจุบัน และทำการประมวลผลการคาดการณ์ความต้องการในการใช้พื้นที่ทางเท้าที่เพิ่มขึ้น เพื่อนำมาสรุปเป็นแนวทางการออกแบบทางเท้าบนถนนอโศกให้มีความเหมาะสมตามมาตรฐานสากลและสามารถรองรับปริมาณการสัญจรที่เพิ่มขึ้นในอนาคต ผลการศึกษาพบว่า การใช้พื้นที่ทางเท้า ณ ปัจจุบันมีปริมาณผู้ใช้พื้นที่ทางเท้าในเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ดีขนาดทางเท้าส่วนใหญ่ มิได้แคบจนเกินไปหากแต่ถูกรุกล้ำจากการตั้งวางขายสินค้าของพวกหาบเร่แผงลอยเป็นจำนวนมาก ประกอบกับปัญหาเรื่องการจัดวางตำแหน่งของสาธารณูปโภค อุปกรณ์ประกอบถนนและป้ายจราจรที่ขาดระบบระเบียบในการติดตั้ง ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้การใช้งานพื้นที่ทางเท้าไม่เต็มประสิทธิภาพและไม่เพียงพอต่อการรองรับการใช้งานของคนเดินเท้าในช่วงเวลาเร่งด่วนเวลาเช้า เที่ยง และเย็น ซึ่งจะมีปริมาณคนเดินเท้าเป็นจำนวนมากกว่าปกติ จากผลการวิเคราะห์ดังกล่าว งานวิจัยนี้ได้สรุปและคาดการณ์อัตราการเพิ่มของจำนวนประชากรภายในพื้นที่ศึกษา จากศักยภาพในการพัฒนาพื้นที่ย่านถนนอโศกในเชิงพาณิชยกรรม โดยคำนวณความต้องการทางเท้าจากความเป็นไปได้สูงสุดในการขยายตัวของพื้นที่อาคารตลอดสองฝั่งถนนอโศก ประกอบกับปริมาณผู้สัญจรจากโครงการระบบขนส่งมวลชนเชื่อมต่อท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Airport Rail Link) จากนั้นจึงนำผลที่ได้มาทำการออกแบบพื้นที่ทางเท้าบนถนนอโศกให้เพียงพอและมีบรรยากาศที่น่าเดินตามมาตรฐานสากล โดยมุ่งหวังให้เป็นต้นแบบของการออกแบบพื้นที่ทางเท้าและพื้นที่ว่างด้านหน้าอาคาร ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสามารถส่งเสริมการใช้การสัญจรทางเท้าแทนการใช้ยานพาหนะส่วนบุคคลในพื้นที่อื่นของกรุงเทพมหานครต่อไป