Abstract:
การศึกษาวิจัยในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประวัติชีวิตของครูบุญยัง เกตุคง ศึกษาโครงสร้างและที่มาของทำนองหลักเพลงเชิดจีน สองชั้น ศึกษาการใช้เม็ดพรายสำหรับการบรรเลงระนาดทุ้มเพลงเชิดจีน สองชั้น และศึกษาอัตลักษณ์ในการแปรทำนองระนาดทุ้มในเพลงเชิดจีน สองชั้น ผลจากการศึกษาพบว่า ครูบุญยัง เกตุคง ได้รับการศึกษาดนตรีตั้งแต่วัยเยาว์ร่วมกับครูบุญยง เกตุคง ผู้เป็นพี่ชาย ได้แสดงความสามารถทางด้านดนตรีและเข้าร่วมการประชันดนตรีปี่พาทย์มากมายจนมีชื่อเสียง ในวัยหนุ่มได้มีโอกาสศึกษาการบรรเลงระนาดทุ้มจากครูดนตรีไทยผู้ซึ่งมีชื่อเสียงหลายท่าน อาทิ ครูเพชร จรรย์นาฏย์, ครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) และได้ใช้ประสบการณ์ทางวิชาชีพดนตรีไทยจนสามารถสร้างชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ ตลอดจนสืบทอดวิชาความรู้เกี่ยวกับการบรรเลงระนาดทุ้มให้แก่ลูกศิษย์สายต่าง ๆ อย่างแพร่หลาย ศิลปินรุ่นหลังยังคงให้การยอมรับและยกย่องในผลงานการบรรเลงระนาดทุ้มของครูบุญยัง เกตุคง ว่ามีเอกลักษณ์เฉพาะและตกทอดสืบมาจนถึงปัจจุบันนี้ จากการศึกษาวิเคราะห์ทำนองหลัก และผลงานการบรรเลงระนาดทุ้มเพลงเชิดจีน ทางครูบุญยัง เกตุคง พบว่าทำนองหลัก ตัวที่ 1 ได้ถูกขยายมาจากเพลงเชิดใน สองชั้นตัวที่ 6 จำนวน 30 ห้อง แล้วนำเพลงเชิดใน ชั้นเดียว ตัวที่ 6 มาต่อท้ายเพื่อลงจบ ในตัวที่ 2, 3 และ 4 เป็นการประพันธ์ทำนองขึ้นใหม่โดยไม่ยึดทำนองเดิมจากเพลงใดๆ ยกเว้นในส่วนขึ้นต้นของตัวที่ 4 ได้นำทำนองเพลงเร็วเรื่องจีนแสมาเป็นทำนองขึ้นต้น พบว่าลักษณะทำนองในตัวที่ 2-4 นั้นเป็นทางพื้นผสมทางโยน สลับลูกล้อลูกขัด และลูกกระทบ จากนั้นจึงนำส่วนท้ายของเพลงเชิดใน ชั้นเดียวมาต่อท้ายเพื่อลงจบในทุกๆตัว การดำเนินทำนองมีการโยกย้ายบันไดเสียงระหว่างทางนอกและทางใน ซึ่งการแปรทำนองระนาดทุ้มของครูบุญยัง เกตุคง ได้แสดงถึงอัตลักษณ์เฉพาะตนของท่าน คือ การตีคอร์ดแบบคู่ประสานสลับกับการแจกมือซึ่งท่านได้นำแบบอย่างมาจากการบรรเลงของเปียโน การเน้นเสียงและบังคับเสียงให้ลึกและมีคุณภาพ การดำเนินทำนองด้วยมือซ้ายเป็นหลัก เหล่านี้ล้วนเป็นอัตลักษณ์เฉพาะของครูบุญยัง เกตุคง ซึ่งก่อให้เกิดเป็นรูปแบบหนึ่งของการบรรเลงระนาดทุ้มซึ่งได้รับความนิยมสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน