Abstract:
งานวิจัยฉบับนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพที่มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอุดมการณ์ของผู้ผลิตสื่อ บทบาทของสื่อทางเลือกข้ามพรมแดนเพื่อสื่อสารเรื่องชนกลุ่มน้อยพม่า และบทบาทของสื่อทางเลือกในการต่อสู้ทางการเมืองของชนกลุ่มน้อยพม่า โดยศึกษาวิจัยจากสื่อประเภทวารสารสาละวินโพสต์ และเว็บไซต์สาละวินนิวส์ออนไลน์ ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2553-2555 โดยได้เก็บข้อมูลจากการวิจัยเอกสาร และภาคสนามโดยวิธีการสัมภาษณ์ และนำมาผ่านกระบวนการวิเคราะห์เนื้อหา ในเชิงของการตีความ โดยใช้ตารางแจกแจงเป็นเครื่องมือประกอบการวิเคราะห์ ผลการศึกษาพบว่าสื่อทางเลือกข้ามพรมแดนในประเทศไทย กรณีวารสารสาละวินโพสต์ และเว็บไซต์สาละวินนิวส์ออนไลน์ ได้สะท้อนอุดมการณ์ประชาธิปไตยของผู้ผลิตสื่อที่ต้องการสร้างความเป็นธรรมให้กับกลุ่มชาติพันธุ์พม่า ซึ่งในที่นี้คือกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ไทใหญ่ โรฮิงยา และคะฉิ่น เห็นได้จากการสะท้อนให้เห็นประเด็นความรุนแรง ความเลวร้าย ความยุติธรรม และปัญหาเชิงนโยบายในรูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับกลุ่มชาติพันธุ์พม่าเหล่านี้ ด้วยเหตุนี้สื่อทั้งสองประเภทจึงกลายมาเป็นสื่อทางเลือกข้ามพรมแดนที่มีบทบาทสำคัญในการสื่อสารเรื่องชนกลุ่มน้อยพม่า 3 ประการคือ การสร้างพื้นที่ในการสื่อสาร การเป็นปากเสียงในการเรียกร้อง และการสร้างความเข้าใจที่ดีต่อกลุ่มชาติพันธุ์พม่า นอกจากนี้สื่อทั้งสองประเภทยังมีบทบาทในการต่อสู้ทางการเมืองให้กับชนกลุ่มน้อยพม่าในระดับหนึ่ง ในฐานะเป็นสื่อทางเลือกที่นำเสนอข้อเท็จจริงเป็นภาษาไทย และอยู่ในห้องสมุดของมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมถึงการเป็นสื่อออนไลน์ที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย และสะดวก ส่งผลให้สื่อดังกล่าวกลายเป็นสื่อที่ถูกเลือกนำไปศึกษา อ้างอิงในเนื้อหา เอกสารตำรา หนังสือวิชาการ บทความข่าว และสื่ออื่นๆ ดังนั้นจึงมีความสำคัญในฐานะเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ทางการเมืองในระดับเล็กๆ ที่สามารถขยายกว้างออกไปโดยกลุ่มผู้ใช้สื่อ ได้แก่ นักเรียน นักศึกษา อาจารย์ นักวิชาการ ผู้สนใจเรื่องพม่า และหน่วยงานองค์กรต่างๆ ที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน