Abstract:
งานวิจัยในอดีตที่ศึกษาเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องผีหรือสิ่งเหนือธรรมชาติในหมู่คนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มักเน้นความเชื่อและวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อ ข้อมูลที่ใช้ก็มักเป็นเรื่องเล่าหรือรายงานจากการสังเกต ข้อสรุปที่ได้ไม่ชัดเจนว่าภาพของผีในโลกทัศน์ของคนในภูมิภาคนี้มีลักษณะที่เป็นระบบอย่างไร และมีความเหมือนหรือต่างกันอย่างไรในประเทศต่างๆ งานวิจัยนี้จึงมุ่งวิเคราะห์ระบบคำเรียกผีและจัดจำพวกคำเรียกผี โดยใช้วิธีการวิเคราะห์องค์ประกอบทางความหมายของคำซึ่งเป็นวิธีการศึกษาตามแนวอรรถศาสตร์ชาติพันธุ์ เพื่อทำความความเข้าใจมโนทัศน์และตีความโลกทัศน์ของคนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกี่ยวกับผีที่สะท้อนผ่านความหมายของคำเรียกผี ข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์ได้มาจากการสัมภาษณ์ผู้บอกภาษาซึ่งคัดเลือกอย่างเฉพาะเจาะจง จำนวนภาษาละ 5 คน เป็นผู้ที่พูดภาษามาตรฐานของประเทศของตนเป็นภาษาแม่ และพำนักอยู่ในเขตเมืองหลวงของประเทศนั้น มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ไม่จำกัดเพศ และมีความเชื่อเรื่องผีหรือสิ่งเหนือธรรมชาติ ผลการวิเคราะห์ พบคำเรียกผีรวมทั้งหมด 137 คำ เป็นภาษาพม่า 37 คำ ภาษาลาว 35 คำ ภาษาเขมร 35 คำ ส่วนภาษามาเลย์พบคำเรียกผีน้อยที่สุดคือ 30 คำ คำเรียกผีทั้งหมดแยกออกจากกันด้วยมิติแห่งความแตกต่างทางความหมาย 11 มิติ คือ มิติอำนาจเหนือธรรมชาติ มิติตัวตน มิติดีร้าย มิติหน้าที่ มิติที่อยู่ มิติสถานภาพ มิติลักษณะการตาย มิติเพศ มิติอายุ มิติอาหาร และมิติลักษณะเฉพาะ โดยมิติเด่นที่ครอบคลุมทุกคำได้แก่มิติอำนาจเหนือธรรมชาติ มิติตัวตน และมิติดีร้าย ความสัมพันธ์ทางความหมายของคำเรียกผีทั้งหมดแสดงด้วยการจัดจำพวกแบบชาวบ้านได้ 5 ระดับ ได้แก่ ระดับตั้งต้น ระดับมูลฐาน ระดับพื้นฐาน ระดับเจาะจง และระดับปลีกย่อย ระดับตั้งต้น มีคำเรียกผี 3 คำคือ ຜີ phǐ: ‘ผี(ลาว)’, kmaoc ‘ผี(เขมร)’ และ jin ʤin ‘ผี(มาเลย์)’ พม่าไม่มีคำเรียกผีระดับตั้งต้น ระดับมูลฐาน มีคำเรียกผี 12 คำ ได้แก่ ຜີສາງອາລັກຂາ phǐː sǎːŋ ʔàːlakkhǎː / ຜີອາຮັກ phǐː ʔǎːhak ‘ผีสางอารักษ์(ลาว)’, kmaoc ʔaːriək něək taː ‘ผีอารักษ์(เขมร)’, naʔ ‘ผู้ดูแล(พม่า)’และ pari-pari pari pari ‘นางฟ้า(มาเลย์)’ ระดับพื้นฐาน มีคำเรียกผี 52 คำ เช่น ເຜດ phèːt ‘ผีเปรต(ลาว)’, tmop ‘ผีปอบ(เขมร)’, hantu penanggal hantu pənaŋgal ‘ผีกระสือ(มาเลย์)’ และ sóʊ̃ ma̰ ‘ผีกระสือ(พม่า)’ ระดับเจาะจง มีคำเรียกผี 49 คำ เช่น priəy kɑntoːŋ khiəw ‘ผีนางไม้(เขมร), hantu air hantu ʔeː ‘ผีน้ำ(มาเลย์)’, ຜີແມ່ມານ phǐː mɛː máːn ‘ผีตายทั้งกลม(ลาว) และ naʔ ɵá ‘ผู้ดูแลชาย(พม่า)’ ระดับสุดท้าย คือ ระดับปลีกย่อย มีคำเรียกผี 21คำ เช่น ນາງທໍຣະນີ náːŋ thɔ́ːraníː ‘แม่ธรณี(ลาว)’, myiʔ saʊ̀̃ naʔ ‘ผู้ดูแลท่าน้ำ(พม่า)’ ส่วนภาษาเขมร และมาเลย์ ไม่มีคำเรียกผีระดับปลีกย่อย ผลการตีความโลกทัศน์ของคนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สะท้อนจากระบบคำเรียกผี สรุปได้ว่าผีมีวิถีชีวิตและอุปนิสัยเหมือนมนุษย์ เป็นสมาชิกของสังคม มีอำนาจให้คุณให้โทษ เป็นสาเหตุของความเจ็บป่วย และเป็นสิ่งที่น่ากลัว