Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยทางการเมือง สังคม และเพศสถานะที่มีอิทธิพลต่อการสร้างเรื่องเล่าในนวนิยายเรื่อง เดอะ เมมัวรส์ ออฟ อะ เซอร์ไวเวอร์ ของ ดอริส เลสซิง และเดอะ เฮาส์ ออฟ เดอะ สปิริตส์ ของ อิซาเบล อัลเยนเด รวมทั้งศึกษารูปแบบการเล่าเรื่องในนวนิยายทั้งสองเรื่อง และวิเคราะห์บทบาทของเรื่องเล่าในฐานะที่เป็นการต่อรอง การเรียนรู้ และการเยียวยาจากการครอบงำของอำนาจวัฒนธรรมกระแสหลัก และนำมาสู่การสร้างอัตลักษณ์ผ่านทางเรื่องเล่า จากการศึกษาวิเคราะห์นวนิยายทั้งสองเรื่อง สรุปได้ว่า การพลัดถิ่นทั้งทางร่างกายและจิตใจเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างเรื่องเล่า และมีผลต่อรูปแบบของเรื่องเล่า นอกจากนี้เรื่องเล่ายังมีบทบาทช่วยต่อรองกับวาทกรรมกระแสหลัก ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่จะอยู่ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม เรื่องเล่าสามารถช่วยเยียวยาบาดแผลทางใจทั้งที่เกิดจากปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน และเรื่องเล่ายังถูกใช้เพื่อประกอบสร้างอัตลักษณ์คนพลัดถิ่น ผลการวิจัยเปรียบเทียบนวนิยายทั้งสองเรื่องพบว่าถึงแม้นวนิยายทั้งคู่จะใช้ลักษณะการประพันธ์แบบนวนิยายเชิงอัตชีวประวัติเหมือนกัน และใช้เพื่อต่อรองกับวาทกรรมกระแสหลักเช่นเดียวกัน แต่ด้วยลักษณะการพลัดถิ่นที่ส่งผลกระทบต่อตัวผู้เขียนแตกต่างกันทำให้รูปแบบเรื่องเล่านั้นแตกต่างกัน ในขณะที่เรื่องเล่าของบ้านใน เดอะ เฮาส์ ออฟ เดอะ สปิริตส์ ถูกใช้เพื่อรื้อฟื้นรากเหง้าและเยียวยาบาดแผลทางใจที่เกิดจากการเมือง แต่เรื่องเล่าของบ้านและแม่ใน เดอะ เมมัวรส์ ออฟ อะ เซอร์ไวเวอร์ กลับเป็นเรื่องที่ต้องถูกเยียวยาเพราะเป็นปมปัญหาของผู้เล่า อย่างไรก็ดี นวนิยายทั้งสองเรื่องต่างก็นำเสนอการประกอบสร้างอัตลักษณ์ผ่านทางเรื่องเล่าเหมือนกัน