Abstract:
วิทยานิพนธ์เรื่องนี้มุ่งศึกษาวิเคราะห์การใช้ข้อมูลคติชนในการสร้างอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของชาวไทลื้อ บ้านห้วยโก๋น อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน โดยได้รวบรวมข้อมูลภาคสนามทางคติชนประเภทต่างๆ ของชาวไทลื้อ วิเคราะห์บทบาทของคติชนในการสร้างอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ ตลอดจนวิเคราะห์ปัจจัยและบริบททางสังคมที่มีผลต่อการสร้างอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของชาวไทลื้อ บ้านห้วยโก๋น อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน ผลการศึกษาสรุปว่า คติชนประเภทต่างๆ ของชาวไทลื้อ บ้านห้วยโก๋น ได้แก่ ตำนาน ความเชื่อ พิธีกรรม การแสดง การแต่งกาย และหัตถกรรมพื้นบ้าน มีบทบาทในการสร้างอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของชาวไทลื้อ ชาวไทลื้อได้อาศัยตำนานในการแสดงความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่กลุ่มชาติพันธุ์ไทลื้อมีเหนือกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ใช้ความเชื่อเกี่ยวกับผี เป็นกลไกในการสร้างสำนึกทางชาติพันธุ์ และใช้ความเชื่อทางพุทธศาสนาเป็นเครื่องมือช่วยยกระดับสถานภาพทางสังคม ชาวไทลื้ออาศัยพิธีกรรมในการสร้างความสืบเนื่องและมั่นคงทางวัฒนธรรม ใช้การฟ้อนเจิง ตบมะผาบ และการขับลื้อเป็นเครื่องมือนำเสนอความเป็นกลุ่มชนผู้มีศิลปวัฒนธรรมที่ประณีต ใช้การแต่งกายรูปแบบไทลื้อประยุกต์ช่วงชิงความเป็นผู้เหนือกว่าในเวทีสาธารณะ และใช้งานหัตถกรรมพื้นบ้านประเภทผ้าทอไทลื้อ เพื่อสื่อให้เห็นความผสมกลมกลืนระหว่างอัตลักษณ์ดั้งเดิม และอัตลักษณ์ประดิษฐ์ ผู้วิจัยพบว่า นโยบายระดับโรงเรียน ตำบล อำเภอ และการมีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ เป็นบริบททางสังคมและเป็นปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการสร้างอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของชาวไทลื้อ บ้านห้วยโก๋น อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน