Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาบทบาททางการเมืองของจอมพลถนอม กิตติขจรระหว่างที่ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อ พ.ศ. 2506 จนถึงการสิ้นสุดอำนาจทางการเมืองเมื่อ พ.ศ. 2516 โดยเน้นศึกษาในประเด็นการขึ้นสู่อำนาจทางการเมือง และการรักษาอำนาจทางการเมืองเป็นสำคัญ ผลการศึกษาทำให้เห็นบทบาททางการเมืองของจอมพลถนอม กิตติขจร ดังนี้ ประการที่ 1 การขึ้นสู่อำนาจทางการเมืองในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น จอมพลถนอม กิตติขจรได้ใช้ปัจจัยสำคัญ 3 ประการด้วยกัน ได้แก่ ปัจจัยจากพัฒนาการของบทบาทด้านการทหารและด้านการเมืองของจอมพลถนอม กิตติขจรในช่วงกว่าทศวรรษก่อนหน้านั้น ที่กลายเป็นภาพลักษณ์ในฐานะเป็นทายาททางทหารและการเมืองที่จะสืบทอดอำนาจต่อจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปัจจัยด้านพระมหากษัตริย์ที่ให้ความชอบธรรมในการนำไปสู่ความสามารถในการควบคุมกองทัพ ซึ่งเป็นปัจจัยที่สามที่เกี่ยวเนื่องกันอย่างยิ่ง ประการที่ 2 ในการรักษาอำนาจเพื่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือผู้นำประเทศอย่างยาวนานนั้น จอมพลถนอม กิตติขจรใช้ปัจจัยบุคลิกภาพส่วนตัวที่เน้นความสุภาพเรียบร้อยและซื่อสัตย์สุจริต มาเป็นนโยบายเชิงปฏิบัติในฐานะผู้นำทางการเมือง ทั้งในเรื่องการถอนตัวออกจากธุรกิจการค้า และการปราบคอรัปชั่น ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้ส่งผลต่อการจำกัดบทบาทคู่แข่งทางการเมืองของจอมพลถนอมลงไปอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในกองทัพบก ทั้งยังสามารถสร้างความนิยมจากสังคมในฐานะเป็นผู้นำรุ่นใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกรณีการปราบคอรัปชั่นของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ส่วนอีกสองปัจจัยสำคัญที่จอมพลถนอม กิตติขจรจะใช้เป็นเครื่องมือรักษาอำนาจทางการเมืองตลอดทศวรรษนั้น คือ ภัยคอมมิวนิสต์ และรัฐธรรมนูญ ขณะที่ภัยคอมมิวนิสต์เป็นเครื่องมือในการใช้ควบคุมปราบปรามและจำกัดเสรีภาพของสังคม ตลอดทั้งทำให้ได้รับเงินช่วยเหลือจากสหรัฐฯ เป็นจำนวนมากต่อกองทัพและเศรษฐกิจไทย ส่วนเรื่องรัฐธรรมนูญนั้นเป็นเครื่องมือที่จะสร้างความหวังเรื่องประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ แต่ความล่าช้าในการร่างรัฐธรรมนูญ หรือรัฐธรรมนูญฉบับที่ประกาศใช้แล้วถูกทำลายโดยคณะทหารของจอมพลถนอมเองในคราวรัฐประหาร พ.ศ. 2514 ซึ่งก็ทำให้เรื่องรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย กลายเป็นสาเหตุปัจจัยในการสิ้นอำนาจทางการเมืองของจอมพลถนอม ในท่ามกลางปัญหาคอรัปชั่นที่รุนแรง และภัยคอมมิวนิสต์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป