Abstract:
วิทยานิพนธ์เรื่องนี้มีวัตถุประสงค์จะศึกษาภาพตัวแทนของสมเด็จพระมหา ธรรมราชาที่ปรากฏในวรรณกรรมไทยที่ประพันธ์ขึ้นตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์จน ถึง พ.ศ. 2546 ทั้งในด้านกลวิธีการเล่าเรื่องของสมเด็จพระมหาธรรมราชา และปัจจัยทางสังคมวัฒนธรรมและการเมืองที่ส่งผลต่อการนำเสนอภาพตัวแทนของ สมเด็จพระมหาธรรมราชาในวรรณกรรม ผลการวิจัยพบว่า ภาพตัวแทนของสมเด็จพระมหาธรรมราชาไม่ใช่ภาพสะท้อนของสมเด็จพระมหาธรรมราชา ที่เป็นบุคคลในประวัติศาสตร์แต่ถูกสร้างขึ้นด้วยกลวิธีทางวรรณศิลป์และความ คิดทางการเมือง สังคม และวัฒนธรรมในยุคสมัยของการประพันธ์ ภาพตัวแทนของสมเด็จพระมหาธรรมราชาในวรรณกรรมสามารถแบ่งได้ตามสถานภาพดังนี้ (1) ในสภาพขุนพิเรนทรเทพผู้เป็นขุนศึกของอยุธยา ปรากฏเป็นภาพของผู้ปราบยุคเข็ญและนักรักนักรบ (2) ในสถานภาพพระมหาธรรมราชาผู้เป็นเจ้าเมืองพิษณุโลก ปรากฏเป็นภาพของผู้ต่อสู้เพื่อชาติ ผู้เผด็จชาติตน และผู้พ่ายแพ้ และ (3) ในสถานภาพสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชผู้เป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ปรากฏเป็นภาพพระราชบิดาของวีรสตรี/วีรบุรุษ และเป็นวีรกษัตริย์ กลวิธีการเล่าเรื่องที่ใช้นำเสนอภาพตัวแทนของสมเด็จพระมหาธรรมราชาให้แตก ต่างกันได้แก่ การสร้างโครงสร้างเพื่อนำเสนอแก่นเรื่อง กลวิธีการสร้างตัวละคร การเลือกใช้ผู้เล่าและมุมมองของการเล่าเรื่องที่ต่างกัน และการใช้ฉากเป็นพื้นที่ของการเล่าเรื่อง ความคิดทางการเมือง สังคม และวัฒนธรรมที่ส่งผลต่อการประกอบสร้างตัวละครสมเด็จพระมหาธรรมราชา ได้แก่ วาทกรรมชาตินิยม ความแตกต่างด้านโลกทัศน์เกี่ยวกับพม่า การเปลี่ยนแปรมโนทัศน์เรื่องวีรบุรุษ วาทกรรมการเมืองในวิกฤติการณ์ 14 ตุลา 2516 และพฤษภาทมิฬ วาทกรรม ประวัติศาสตร์กระแสรอง และอิทธิพลของมโนทัศน์เรื่องพ่อของแผ่นดิน