Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาภาพลักษณ์ของตัวละครหญิง “โทะโมะเอะ โกะเส็น” โดยวิเคราะห์และเปรียบเทียบจากนิยายสงคราม 2 เรื่อง ได้แก่ เรื่อง “เฮะอิเกะโมะโนะงะตะริ” และเรื่อง “เก็มเปะอิเซะอิซุอิกิ” ในสมัยคะมะกุระ กับบทละครญี่ปุ่น 2 เรื่อง ได้แก่ บทละครโนเรื่อง “โทะโมะเอะ” ในสมัยมุโระมะชิ และบทละครโจรุริเรื่อง “ฮิระงะนะเซะอิซุอิกิ” ในสมัยเอโดะ รวมทั้งได้วิเคราะห์หาความสัมพันธ์ระหว่างภาพลักษณ์ของตัวละครหญิง “โทะโมะเอะ โกะเส็น” กับปัจจัยในเชิงสังคมตามสถานภาพสตรีในชนชั้นนักรบ จากผลการศึกษาพบว่าภาพลักษณ์ของตัวละครหญิง “โทะโมะเอะ โกะเส็น” มีลักษณะที่เป็นจุดร่วมดังนี้ 1. รูปลักษณ์ภายนอก : การแต่งกายชุดเกราะพร้อมทั้งอาวุธและพาหนะม้า 2. ความสามารถ : ฝีมือการรบเป็นเลิศ 3. สถานภาพ : นักรบสตรีผู้มีบทบาทปกป้องผู้เป็นนาย 4. ลักษณะนิสัย : ความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวและจงรักภักดี ด้านความแตกต่างพบว่าภาพลักษณ์ของตัวละครหญิง “โทะโมะเอะ โกะเส็น” แตกต่างไปตามรูปแบบของงานวรรณกรรมและสมัยของงานวรรณกรรมดังจะสรุปได้ดังนี้ รูปแบบของนิยายสงครามจะเน้นการบรรยายรูปลักษณ์ภายนอก ในขณะที่บทละครจะเน้นการบรรยายความรู้สึกภายในจิตใจของตัวละคร นอกจากนี้รูปแบบเฉพาะของบทละครแต่ละเรื่องยังส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของโทะโมะเอะในด้านลักษณะนิสัย บทบาทตามสถานภาพนักรบ การใช้วิธีการต่อสู้ รูปแบบสังคมแบบปิตุลาธิปไตยตั้งแต่สมัยคะมะกุระตอนปลายถึงสมัยเอโดะได้ส่งผลให้เกิดภาพลักษณ์ของภรรยาและมารดาเพิ่มเติมขึ้นมา เป็นต้น ภาพลักษณ์ของตัวละครหญิง “โทะโมะเอะ โกะเส็น” สะท้อนให้เห็นถึงมโนทัศน์ของคนญี่ปุ่นที่มีต่อสตรีในอุดมคติในสมัยสงครามที่เปี่ยมไปด้วยความสามารถทางการรบพร้อมทั้งบทบาทในฐานะภรรยาและมารดาที่ดี อีกทั้งยังมีจิตใจที่เข้มแข็งสามารถยืนหยัดท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้อย่างสง่างาม