Abstract:
ศึกษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของเวียดนาม ผ่านการศึกษาเปรียบเทียบนิทานชุดจ่าง กวิ่ง กับนิทานตลกเจ้าปัญญาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และวิเคราะห์ลักษณะสากลของนิทานตลกเจ้าปัญญา ผลการศึกษาวิจัยพบว่า อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของเวียดนาม ที่ปรากฏผ่านนิทานชุดจ่าง กวิ่ง สะท้อนสภาพสังคมเวียดนามในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 18 ซึ่งเป็นสังคมที่มีความแตกต่างทางชนชั้น มีศาสนาและความเชื่อที่หลากหลาย ให้คุณค่ากับการศึกษา ให้ความสำคัญกับที่ดิน และเป็นสังคมที่ปฏิเสธความเป็นจีน อีกทั้งยังเป็นยุคสมัยที่ปัญญาชนเวียดนามให้ความสนใจกับการใช้ภาษาเวียดนามแทนภาษาจีน ด้วยเห็นว่าภาษาเป็นเป็นอัตลักษณ์ที่สำคัญประการหนึ่ง นิทานชุดจ่าง กวิ่ง มีลักษณะร่วมกันหลายประการกับนิทานตลกเจ้าปัญญาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเรื่องภูมิหลังที่มาของตัวละครเอก ความขัดแย้งของคู่ตรงข้ามและมุขตลก การศึกษาแบบเรื่องและอนุภาคของนิทานแสดงให้เห็นว่า นิทานตลกเจ้าปัญญาชุดจ่าง กวิ่ง มีลักษณะเป็นสากล หากแต่ในขณะเดียวกัน นิทานชุดจ่าง กวิ่ง ยังได้แสดงลักษณะเฉพาะของชาวเวียดนาม เช่น วิธีการเลื่อนสถานะของตัวเอก บทบาทของกษัตริย์ และอิทธิพลของศาสนาในชีวิตประจำวัน ในบริบทของสังคมเวียดนาม นิทานชุดจ่าง กวิ่ง ยังคงมีสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน ทั้งการพิมพ์นิทานในรูปแบบของการ์ตูน สำนวนภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ตลอดจนเทศกาลจ่าง กวิ่ง ณ หมู่บ้านหว่าง หวา จังหวัด แทง หวา