Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบ 1) ค่าความแข็งผิวระดับไมโครเมตรของ วัสดุทดลอง เซรามิค เรซินคอมโพสิต และผิวเคลือบฟันมนุษย์ และเปรียบเทียบ 2) ค่าความแข็งแรงดึงยึดระหว่างสารยึดเรซินกับวัสดุทดลอง เซรามิค เรซินคอมโพสิต และโลหะผสมชนิดพื้นฐาน โดยใช้เรซินซีเมนต์แตกต่างกัน 2 กลุ่มคือ กลุ่มซุปเปอร์บอนด์ และกลุ่มออลบอนด์ทูร่วมกับดูโอลิงค์ซีเมนต์ (กลุ่มออลบอนด์ทู) วัสดุและวิธีการการทดสอบความแข็งผิวในระดับไมโครเมตร : เตรียมชิ้นตัวอย่างขนาด 4x5x2 มิลลิเมตรจำนวน 20 ชิ้นของวัสดุบูรณะแต่ละชนิดและผิวเคลือบฟัน จากนั้นทำการวัดความแข็งผิวแบบวิคเคอร์ด้วยเครื่องวัดความแข็งผิวระบบดิจิตอลที่แรงกด 100 กรัมเป็นเวลา 15 วินาที โดยทำการกด 8 จุดในแต่ละชิ้นตัวอย่าง นำผลที่ได้มาหาค่าเฉลี่ย วิธีการทดสอบค่าความแข็งแรงดึงยึด : เตรียมชิ้นตัวอย่างขนาด 4x5x2 มิลลิเมตร จำนวน 20 ชิ้นของวัสดุบูรณะแต่ละชนิด นำไปยึดในเรซินจากนั้นสร้างระนาบบนชิ้นตัวอย่าง โดยใช้กระดาษทรายซิลิกอนคาร์ไบด์ความละเอียด 400 และ 600 แล้วนำไปทำการปรับสภาพพื้นผิวโดยกลุ่มเรซินคอมโพสิตและเซรามิคจะทำการเป่าทรายด้วยผงอลูมินาขนาด 50 ไมโครเมตรร่วมกับการใช้สารคู่ควบไซเลน ส่วนกลุ่มวัสดุทดลองทำการปรับสภาพผิวโดยการเป่าทรายด้วยผงอลูมินาขนาด 50 ไมโครเมตร แล้วตามด้วยการกัดด้วยกรดฟอสฟอริก ส่วนกลุ่มโลหะผสมชนิดพื้นฐานนิกเกิล-โครเมียม-เบริลเลียมทำการปรับสภาพผิวโดยการเป่าทรายด้วยผงอลูมินาขนาด 50 ไมโครเมตร จากนั้นสุ่มชิ้นตัวอย่างมายึดกับแท่งพีเอ็มเอ็มเอขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 มม.ด้วยเรซินซีเมนต์ทั้ง 2 กลุ่ม กลุ่มละ 10 ตัวอย่าง จากนั้นนำชิ้นตัวอย่างไปแช่น้ำที่อุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 24 ชั่วโมงก่อนนำมาทดสอบค่าความแข็งแรงดึงยึดด้วยเครื่องทดสอบสากล ตรวจสอบตำแหน่งของการแตกหักและศึกษาบริเวณรอยต่อของวัสดุบูรณะกับเรซินด้วยกล้องจุลทรรศน์ ชนิดสเตอริโอและกล้องจุลทรรศน์อิเลคตรอนชนิดส่องกราด นำค่าเฉลี่ยความแข็งผิวแบบวิคเคอร์และค่าความแข็งแรงดึงยึดมาวิเคราะห์ทางสถิติที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95 (p<0.05) ผลการทดลอง พบว่าในทุกกลุ่มวัสดุบูรณะและผิวเคลือบฟันมนุษย์มีค่าความแข็งผิวแบบ วิคเคอร์แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยลำดับวัสดุที่มีค่าความแข็งผิวน้อยที่สุดไปยังมากที่สุดคือเรซินคอมโพสิต(109.79) < วัสดุทดลอง(287.16) < ผิวเคลือบฟัน(336.12) < เซรามิค(550.02) พบว่าค่าความแข็งดึงยึดมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติทั้งจากปัจจัยด้านวัสดุบูรณะ เรซินซีเมนต์ และผลร่วมกันของทั้ง 2 ปัจจัย จากการวิเคราะห์ทางสถิติด้วยวิธีของแทมเฮนพบความแตกต่างของค่าความแข็งแรงดึงยึดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติของกลุ่มย่อยจากมากไปน้อยดังนี้ (กลุ่มโลหะผสมชนิดพื้นฐานกับเรซินซีเมนต์ซุปเปอร์บอนด์, เรซินคอมโพสิตกับเรซินซีเมนต์ซุปเปอร์บอนด์, กลุ่มวัสดุทดลองกับเรซินซีเมนต์ซุปเปอร์บอนด์) > (กลุ่มเซรามิคกับเรซินซีเมนต์ซุปเปอร์บอนด์, เรซินคอมโพสิตกับสารยึดเรซินออลบอนด์ทู, วัสดุทดลองกับสารยึดเรซินออลบอนด์ทู) > (กลุ่มโลหะผสมชนิดพื้นฐานกับสารยึดเรซิน ออลบอนด์ทู, กลุ่มเซรามิคกับสารยึดเรซินออลบอนด์ทู)โดยกลุ่มที่อยู่ในวงเล็บมีค่าความแข็งแรงดึงยึดไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ พบชั้นรอยต่อระหว่างวัสดุทดลองและเรซินซีเมนต์ชนิดซุปเปอร์บอนด์มีลักษณะเป็นโครงสร้างตาข่าย สรุปผลการทดลอง วัสดุทดลองมีค่าความแข็งผิวใกล้เคียงกับเคลือบฟันมนุษย์มากกว่าวัสดุบูรณะชนิดอื่นๆและสามารถสร้างชั้นรอยต่อที่มีส่วนผสมระหว่างเรซินและวัสดุทดลองทำให้เกิดการยึดติดเชิงกลที่ดีดังนั้นวัสดุชนิดนี้น่าจะนำมาใช้เป็นวัสดุบูรณะทดแทนเคลือบฟันที่สูญเสียไปได้ดีกว่าวัสดุบูรณะอื่นที่มีใช้อยู่ในปัจจุบัน การเตรียมพื้นผิวของวัสดุบูรณะที่ก่อให้เกิดความขรุขระในระดับไมโครเมตรร่วมกับประสิทธิภาพการแทรกซึมของเรซินซีเมนต์มีผลต่อค่าความแข็งแรงดึงยึดบริเวณรอยต่อระหว่างวัสดุบูรณะกับเรซินซีเมนต์