Abstract:
ความต้านทานต่อการสึก ของซี่ฟันปลอมอะคริลิกเรซิน เป็นคุณสมบัติหนึ่งที่สำคัญที่จะทำให้ผู้ป่วยที่สูญเสียฟันไปสามารถใช้ฟันปลอมได้นาน ซี่ฟันปลอมอะคริลิกเรซินที่มีความต้านทานต่อการสึกสูงจะทำให้ผู้ป่วยที่ใส่ฟันปลอมคงการสบฟันที่ดีไปได้นาน การศึกษานี้เป็นการเปรียบเทียบความต้านทานต่อการสึกของซี่ฟันปลอมอะคริลิกเรซิน 4 ยี่ห้อที่มีองค์ประกอบต่างกัน ทดสอบความต้านทานต่อการสึก โดยใช้ซี่ฟันปลอมยี่ห้อเดียวกันเป็นคู่ทดสอบกันซี่ฟันปลอมอะคริลิกเรซินที่ถูกเลือกมาใช้ในการทดสอบได้แก่ ซี่ฟันปลอม แบบโพลีเมทิลเมทาคริเลตชนิดเส้น ยี่ห้อ Major-dent ซี่ฟันปลอมแบบ โพลีเมทิลเมทาคริเลตชนิดที่มีสารเชื่อมขวางปริมาณสูงและวัสดุอัดแทรกซิลิกายี่ห้อ SR-Orthosit-PE ซี่ฟันปลอมแบบโครงสร้างตาข่ายยี่ห้อ Trubyte Bioform IPN และ ยี่ห้อ Excellence IPN ชิ้นตัวอย่างซี่ฟันปลอม และชิ้นตัวอย่างซี่ฟันปลอมคู่สบจะถูกยึดอยู่ในเครื่องทดสอบการสึก ซึ่งจำลองการสึกแบบสององค์ประกอบ ด้วยแรงกดคงที่ขนาด 2 กิโลกรัม ถูเป็นระยะทาง 8 มิลลิเมตร ด้วยความถี่ 60 รอบต่อนาที จำนวน 5,000 รอบ โดยขณะทดสอบการสึกชิ้นตัวอย่างทั้งสองจะถูกแช่อยู่ในน้ำซึ่งมีการหมุนเวียนด้วยปั๊มน้ำตลอดการทดสอบ วัดผลความต้านทานต่อการสึกจากปริมาตรของซี่ฟันปลอมที่หายไปหลังการทดสอบการสึก วัดความแข็งผิวของชิ้นตัวอย่างซี่ฟันปลอมอะคริลิกเรซิน ด้วยเครื่องวัดความแข็งผิวจุลภาควิกเกอร์ ใช้น้ำหนักกด 50 กรัมเป็นเวลา 30 วินาที วิเคราะห์ผลการทดลองด้วยสถิติวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทางเดียว แล้วทำการเปรียบเทียบเชิงซ้อน พบว่า ซี่ฟันปลอมอะคริลิก เรซินยี่ห้อ Major Dent สูญเสียปริมาตรหลังการทดสอบการสึกไปมากที่สุด (0.0275 ± 0.004) จึงมีความต้านทานต่อการสึกต่ำที่สุดและแตกต่างจากซี่ฟันปลอมอะคริลิกเรซินอีก 3 ยี่ห้ออย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ซี่ฟันปลอมอะคริลิกเรซินยี่ห้อ Excellence IPN สูญเสียปริมาตรหลังการทดสอบการสึกไปน้อยที่สุด (0.0170 ± 0.006) จึงมีความต้านทานต่อการสึกสูงที่สุด เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบความแข็งผิวเฉลี่ยของซี่ฟันปลอมอะคริลิกเรซินทั้ง 4 ยี่ห้อ พบว่าความแข็งผิวเฉลี่ยของซี่ฟันปลอมอะคริลิกเรซินยี่ห้อ SR-Orthosit-PE (29.21± 0.74 VHN) มีค่าสูงที่สุด และมีความแข็งผิวเฉลี่ยแตกต่างจากซี่ฟันปลอมยี่ห้ออื่นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05)