Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนบุคคล ความรู้ในการดูแลผู้สูงอายุ ทัศนคติต่อการดูแลผู้สูงอายุ กับความเครียดในงานของพี่เลี้ยงผู้สูงอายุในสถานสงเคราะห์คนชรา และสร้างสมการพยากรณ์ความเครียดในงานของพี่เลี้ยงผู้สูงอายุในสถานสงเคราะห์คนชรา จากตัวแปรปัจจัยส่วนบุคคล ความรู้ในการดูแลผู้สูงอายุ ทัศนคติต่อการดูแลผู้สูงอายุ กลุ่มตัวอย่างคือพี่เลี้ยงผู้สูงอายุจำนวน 115 คน ในสถานสงเคราะห์คนชราภาครัฐได้จากการสุ่มตัวอย่างแบบกลุ่ม (cluster sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วยแบบวัดความรู้ในการดูแลผู้สูงอายุ แบบวัดทัศนคติต่อการดูแลผู้สูงอายุ และแบบวัดความเครียดในงานของพี่เลี้ยงผู้สูงอายุในสถานสงเคราะห์คนชรา ซึ่งได้รับการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหา และหาค่าความเที่ยงของเครื่องมือโดยหาค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาค มีค่าเท่ากับ 0.78, 0.74 และ 0.94 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยสถิติจำนวน ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สันและวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณแบบเพิ่มตัวแปรเป็นขั้นตอน ผลการวิจัยพบว่า 1. ความเครียดในงานของพี่เลี้ยงผู้สูงอายุในสถานสงเคราะห์คนชราอยู่ในระดับปานกลาง ([x-bar] = 2.54, SD = 0.66) 2. อายุ มีความสัมพันธ์ทางบวกกับความเครียดในงานของพี้เลี้ยงผู้สูงอายุในสถานสงเคราะห์คนชราอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (r = .250) 3. ทัศนคติต่อการดูแลผู้สูงอายุ มีความสัมพันธ์ทางลบกับความเครียดในงานของพี้เลี้ยงผู้สูงอายุในสถานสงเคราะห์คนชรา อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (r = -.184) 4. การศึกษา รายได้ ระยะเวลาในการดูแล และความรู้ในการดูแลผู้สูงอายุ ไม่มีความสัมพันธ์กับความเครียดในงานของพี้เลี้ยงผู้สูงอายุในสถานสงเคราะห์คนชรา 5. อายุและทัศนคติต่อการดูแลผู้สูงอายุสามารถร่วมกันพยากรณ์ความเครียดในงานของพี่เลี้ยงผู้สูงอายุในสถานสงเคราะห์คนชราได้ร้อยละ 9.6 (R[superscript 2] = .096) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยมีสมการพยากรณ์ในรูปคะแนนมาตรฐาน ดังนี้ ความเครียดในงานของพี่เลี้ยงผู้สูงอายุ = .250 อายุ - .190 ทัศนคติต่อการดูแลผู้สูงอายุ