Abstract:
งานวิจัยชิ้นนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาถึงการทำแท้งและการจัดบริการสุขภาพสำหรับผู้ป่วยทำแท้งในบริบทวัฒนธรรมไทย ทั้งนี้โดยมีเป้าหมายของการศึกษา 3 ประการ กล่าวคือ 1) เพื่อศึกษารูปแบบทางวัฒนธรรมการใช้ชีวิตกับกระบวนการในการทำแท้ง และศึกษาการปรับตัวของสตรีที่เคยผ่านประสบการณ์ทำแท้ง 2) เพื่อศึกษาระบบบริการสุขภาพสำหรับผู้ป่วยทำแท้งที่ปฏิบัติอยู่ในปัจจุบัน 3) เพื่อเสนอแนะรูปแบบของบริการสาธารณสุขว่าด้วยการทำแท้งที่ให้ความสำคัญกับบทบาทและศักยภาพของวัฒนธรรม ผู้วิจัยได้ใช้รูปแบบเทคนิคการวิจัยแบบวิธีการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก ในกลุ่มสตรีที่ผ่านการทำแท้งและกลุ่มบุคลากรในระบบบริการสาธารณสุข และนอกจากนี้ยังใช้วิธีการวิจัยแบบการศึกษาประวัติชีวิต ในกลุ่มสตรีที่ผ่านการทำแท้ง ในการรวบรวมข้อมูลภาคสนามจากผู้ให้ข้อมูลกลุ่มสตรีที่ผ่านการทำแท้งจำนวน 10 กรณีศึกษา และกลุ่มบุคลากรในระบบบริการสาธารณสุขจำนวน 12 กรณีศึกษา เพื่อนำมาสู่การวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้ดังกล่าวตามกรอบแนวคิดที่ตั้งไว้ ผลจากการศึกษาพบว่าชีวิตภายหลังจากการทำแท้งผู้หญิงกลุ่มนี้มีชีวิตที่ต้องทนทุกข์ทรมาน และสร้างปัญหาทางด้านร่างกาย จิตใจ และจิตสังคม ส่งผลให้ผู้หญิงกลุ่มนี้มีความต้องการทำแท้งที่ปลอดภัย ลดภาวะความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพ และเสียชีวิต ส่งผลให้ภายหลังการทำแท้งสามารถปรับตัวในสังคมได้อย่างปกติ ซึ่งระบบบริการสุขภาพสำหรับผู้ป่วยทำแท้งในปัจจุบันมีการให้การรักษาผู้ป่วยทางด้านร่างกายเป็นหลัก แต่ละเลยการให้ความสำคัญในรูปแบบการใช้ชีวิต คุณค่าและความเชื่อของสตรีกลุ่มนี้ รวมทั้งกระบวนการในการทำแท้ง หากระบบบริการสุขภาพในปัจจุบันมีการนำแนวความคิดเกี่ยวกับการใช้วัฒนธรรมในการจัดการกับสุขภาพเป็นแนวทางในการให้บริการทางสาธารณสุขจะส่งผลให้กระบวนการเยียวยาสตรีกลุ่มนี้มีประสิทธิภาพทำให้สตรีกลุ่มนี้สามารถปรับตัวได้ดีขึ้นและสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขต่อไป โดยสรุปแล้วการให้บริการสาธารณสุขควรให้ความสำคัญถึงรูปแบบวัฒนธรรมของสตรีที่ผ่านการทำแท้งโดยควรให้ความสำคัญทางด้านอารมณ์ คุณค่า รวมถึงการใช้ชีวิตของสตรีกลุ่มนี้ โดยใช้แนวคิดการใช้วัฒนธรรมในการจัดการกับสุขภาพมาปรับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดความทุกข์ทรมานทางด้านร่างกาย จิตใจและจิตสังคม ทำให้ผู้หญิงกลุ่มนี้ให้กลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้ต่อไป