Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาบทบาทของภาคประชาสังคมข้ามชาติในการรณรงค์ต่อต้านบริษัทยูโนแคลซึ่งเป็นบริษัทข้ามชาติจากสหรัฐอเมริกาที่เข้าไปทำโครงการการลงทุนจนเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงในประเทศพม่า ประเทศพม่าดำเนินนโยบายปิดประเทศเพื่อขจัดอิทธิพลต่างชาติมายาวนานจนเศรษฐกิจพังทลายแต่แล้วเมื่อสภาฟื้นฟูกฎระเบียบแห่งรัฐยึดอำนาจการปกครองได้ในปี ค.ศ. 1988 ก็ได้ประกาศใช้นโยบายเปิดประเทศทางเศรษฐกิจ ทำให้มีกลุ่มธุรกิจจำนวนมากสนใจเข้ามาลงทุนในพม่า โดยเฉพาะบรรษัทข้ามชาติที่เกี่ยวข้องกับกิจการน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ บริษัทยูโนแคลเป็นบริษัทน้ำมันที่ได้รับสัมปทานการขุดเจาะน้ำมันในแหล่งยาดานาร่วมกับรัฐบาลพม่า ผลจากการลงทุนร่วมกับรัฐบาลพม่าทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายรูปแบบต่อประชาชนพม่าและชนกลุ่มน้อยที่อาศัยในบริเวณท่อก๊าซ แม้ว่าพยานหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องก็ไม่ได้ดำเนินการให้เกิดการผลักดันการแก้ไขอย่างเต็มที่ เช่น ประเทศในกลุ่มอาเซียนซึ่งยึดหลักการการไม่แทรกแซงกันสหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศสไม่ได้ดำเนินการใดๆที่จะยุติการลงทุนของบริษัทจากประเทศตน ส่วนองค์การระหว่างประเทศที่สำคัญก็ประสบข้อจำกัดบางประการจนไม่อาจแสดงบทบาทช่วยเหลือชาวพม่าได้ อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากตัวแสดงหลักที่กล่าวมาคือรัฐและองค์กรระหว่างประเทศก็ยังมีภาคประชาสังคมที่มีการประสานงานกันในลักษณะข้ามชาติเพื่อเปิดเผยเรื่องราวและพยายามพิทักษ์สิทธิของชาวพม่าเหล่านั้นไว้ จากการศึกษาพบว่า หน่วยงานภาคประชาสังคมข้ามชาติโดยเฉพาะหน่วยงานที่ไม่ใช่ของรัฐบาล (NGO) ทั้งที่ดำเนินการเรื่องพม่าโดยเฉพาะ และ NGO ในสหรัฐอเมริกา มีความร่วมมือและการประสานงานกันอย่างใกล้ชิดในการกดดันบริษัทยูโนแคลด้วยยุทธวิธีต่างๆ เช่น การรณรงค์ต่อผู้บริโภค, นักกฎหมาย, สถานศึกษาต่างๆ, ผู้ถือหุ้น และรัฐบาลท้องถิ่นในสหรัฐอเมริกา รวมทั้งการฟ้องร้องต่อศาล องค์กรประชาสังคมเหล่านี้ ดำเนินการกดดันบริษัทยูโนแคลอย่างไม่ลดละจนกระทั่งบริษัทยูโนแคลยอมชดใช้ให้แก่ชาวพม่าที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในโครงการยาดานาในที่สุด