Abstract:
ทำการศึกษาพยาธิกำเนิดของไวรัสไข้หวัดใหญ่สุกรสายพันธุ์ A/Swine/Thailand/CB2/05 (H3N2) และ A/Swine/Thailand/CB1/05 (H1N2) ในสุกรอายุ 22 วัน จำนวน 15 ตัว โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มการทดลองให้เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ทางหลอดลม กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มควบคุมมีสุกรจำนวน 3 ตัว ได้รับสารละลายปราศจากเชื้อ กลุ่มที่ 2 และ 3 เป้นกลุ่มทดลองให้เชื้อมีสุกรจำนวนกลุ่มละ 6 ตัว โดยกลุ่มที่ 2 ได้รับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สุกรสายพันธุ์ H3N2 และกลุ่มที่ 3 ได้รับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สุกรสายพันธุ์ H1N2 ทางหลอดลม จากนั้นสุ่มสุกรชันสูตรซาก ณ วันที่ 2, 4 และ 12 หลังการให้เชื้อ โดยกลุ่มควบคุมสุ่มครั้งละ 1 ตัว และกลุ่มทดลองให้เชื้อสุ่มครั้งละ 2 ตัว สังเกตอาการทางคลินิกพบว่ากลุ่มทดลองให้เชื้อ (กลุ่ม H3N2 และ H1N2) แสดงอาการคล้ายโรคไข้หวัดใหญ่ในวันที่ 1-4 หลังการให้เชื้อ พบสุกรมีน้ำมูกใส ไอ จาม เยื่อบุตาอักเสบและนอนสุม ส่วนกลุ่มควบคุมไม่พบอาการทางคลินิก และพบว่าสุกรทุกตัวไม่มีไข้ (น้อยกว่า 40 องศาเซลเซียส) ผลการตรวจรอยโรคทางมหพยาธิวิทยาพบปอดอักเสบแบบ cranioventral pneumonia มีลักษณะเป็นลายคล้ายตารางหมากรุกในกลุ่ม H3N2 และ H1N2 โดยพบรอยโรครุนแรงในวันที่ 2 หลังการให้เชื้อ และพบว่ากลุ่มที่ 3 มีรอยโรคปอดอักเสบมากกว่าและคงอยู่นานถึงวันที่ 12 หลังการให้เชื้อ ส่วนกลุ่ม H3N2 พบรอยโรคที่ปอดคงอยู่ถึงวันที่ 4 หลังการให้เชื้อเท่านั้น และในกลุ่มควบคุมนั้นไม่พบรอยโรคทางมหพยาธิวิทยา การตรวจทางจุลพยาธิวิทยาพบรอยโรคปอดอักเสบแบบ broncho-interstitial pneumonia ในกลุ่ม H3N2 และ H1N2 ซึ่งคล้ายรอยโรคที่เกิดจากไวรัสไข้หวัดใหญ่สุกร โดยพบมีความเสียหายของเซลล์บุผิวหลอดลม หลอดลมอุดตัน ร่วมกับการแทรกของเซลล์อักเสบรอบหลอดลมและหลอดเลือด พบรอยโรครุนแรงในวันที่ 2 หลังการให้เชื้อ และพบกลุ่ม H1N2 มีรอยโรครุนแรงกว่ากลุ่ม H3N2 ส่วนกลุ่มควบคุมนั้นไม่พบรอยโรคทางจุลพยาธิวิทยา ผลการตรวจการกระจายแอนติเจนของไวรัสไข้หวัดใหญ่สุกรในเนื้อเยื่อปอดโดยใช้ monoclonal anti-NP influenza A antibody พบแอนติเจนในนิวเคลียสของเซลล์บุผิวหลอดลม เซลล์บุผิวถุงลมปอด และมาโครฟาจ ในกลุ่ม H3N2 และ H1N2 พบสูงสุดในวันที่ 2 หลังการให้เชื้อ และพบแอนติเจนของไวรัสในกลุ่ม H1N2 คงอยู่นานกว่ากลุ่ม H3N2 โดยพบแอนติเจนเรืองแสงสีเขียวแอปเปิ้ลจากเทคนิค immunofluorescence assay และพบแอนติเจนติดสีน้ำตาลเข้มจากเทคนิค immunohistochemistry ส่วนในกลุ่มควบคุมไม่พบแอนติเจนของไวรัส และพบว่าสุกรกลุ่มทดลองให้เชื้อสามารถขับเชื้อออกทางจมูกได้ในวันที่ 2-4 หลังการให้เชื้อ โดยตรวจพบสารพันธุกรรมของไวรัสไข้หวัดใหญ่จากตัวอย่างป้ายจมูกได้ในวันที่ 2-4 หลังการให้เชื้อด้วยเทคนิค RT-PCR ส่วนในตัวอย่างซีรัมไม่พบสารพันธุกรรมของไวรัสไข้หวัดใหญ่ ผลการตรวจปริมาณไวรัสพบกลุ่ม H3N2 มีปริมาณไวรัสจาเนื้อเยื่อปอด 10[superscript 4] TCID[subscript 50]/g และจากน้ำล้างหลอดลม 10 [superscript 2-3] TCID[subscript 50]/ml ในวันที่ 2 หลังการให้เชื้อส่วนสุกรในกลุ่ม H1N2 ไม่สามารถอ่านผลได้เนื่องจากมีการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียระหว่างการตรวจในห้องปฏิบัติการ จากการเพาะแยกแบคทีเรียไม่พบแบคทีเรียก่อโรคจากตัวอย่างป้ายหลอดลมและเนื้อเยื่อปอด และไม่พบสารพันธุกรรมของ Mycoplasma hyopneumoniae จากเนื้อเยื่อปอดด้วยเทคนิค PCR ในสุกรทั้ง 3 กลุ่ม ณ วันที่ 2, 4 และ 12 หลังการให้เชื้อ จากผลการทดลองแสดงให้เห็นว่าไวรัสไข้หวัดใหญ่สุกรที่แยกได้ในประเทศไทยทั้งสองสายพันธุ์สามารถทำให้เกิดโรคไข้หวัดใหญ่สุกรในสุกรทดลองได้ โดยมีแนวโน้มพบรอยโรคที่รุนแรงกว่าในสุกรที่ได้รับไวรัสไข้หวัดใหญ่สุกรสายพันธุ์ H1N2 ซึ่งไวรัสไข้หวัดใหญ่จากสุกรสายพันธุ์ H1N2 อาจมีบทบาทสำคัญในการก่อโรคระบบทางเดินหายใจในสุกรแบบซับซ้อนร่วมกับจุลชีพอื่นๆ ในปอดสุกร ซึ่งควรมีการศึกษาต่อไปในอนาคต