Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาหลักการแสดงบทบาทฤษีในโขนเรื่องรามเกียรติ์ ประเภทความเป็นมา รูปแบบ ขั้นตอนและวิธีการแสดงโขนของกรมศิลปากรตั้งแต่ปีพ.ศ. 2488 – 2550 โดยเลือกศึกษาฤษีที่มีบทบาทแตกต่างกัน 3 ตน คือ ฤษีกไลโกฏ ตอน กไลโกฏหลงรส ฤษีสุธรรม ตอน ลักสีดาและฤษีโคบุตร ตอน ถวายลิง วิธีวิจัยใช้การศึกษาจากเอกสารที่เกี่ยวข้อง การสัมภาษณ์ การสังเกตการแสดงบนเวที วีดิทัศน์ ภาพถ่าย และจากประสบการณ์ของผู้วิจัยในฐานะผู้แสดงและครูนาฏยศิลป์โขนมากว่า 15 ปี การศึกษาพบว่า ฤษีเป็นนักบวชผู้ทรงศีลในลัทธิพราหมณ์ บทบาทการแสดงฤษีในโขนจัดอยู่ในประเภทตัวประกอบ ซึ่งมีหลายตนและมักทำหน้าที่คอยช่วยเหลือให้ตัวเอกหรือตัวสำคัญให้กระทำการได้สำเร็จ การแสดงเป็นฤษีในโขนมี 2 ชนิดตามแบบแผนโขนหลวงโบราณ คือ การแสดงเป็นฤษีที่สำรวมมีท่ารำและการแสดงเป็นฤษีตลก ฤษีที่สำรวมมีการรำ 2 รูปแบบ คือรำประกอบเพลงหน้าพาทย์และรำใช้บท รำด้วยความสง่าและสำรวม เน้นท่ารำส่วนบนของร่างกาย ฤษีตลกเน้นความตลกด้วยการเจรจาด้วยน้ำเสียงและท่าทางตามธรรมชาติ มีท่ารำประกอบเล็กน้อย มีการใช้ปฏิภาณสอดแทรกเหตุการณ์สังคมปัจจุบันในกรอบของเรื่อง การแสดงเป็นฤษีทั้ง 2 รูปแบบ มีความสำรวมมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับฐานานุศักดิ์ของฤษีตนนั้น ฤษีในโขนและละครมีหลายตนและยังขาดการศึกษา จึงควรมีการศึกษาวิจัยในเรื่องฤษีให้ลุ่มลึก ให้เกิดองค์ความรู้ไปใช้ในทางวิชาการและวิชาชีพอย่างเหมาะสม ต่อไป