Abstract:
พื้นที่ศึกษาตั้งอยู่บริเวณบ้านวังหมี อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมาซึ่งในพื้นที่มีการกระจายตัวของหินอัคนี หินตะกอน และหินแปรที่มีอายุตั้งแต่ช่วงเพอร์เมียนถึงควอเทอร์นารี ในการศึกษาครั้งนี้สนใจศึกษาเฉพาะหินแกรนิตที่โผล่ขึ้นมาในบริเวณนี้ จากการศึกษาลักษณะศิลาวรรณนา หินแกรนิตที่พบจัดให้เป็นกลุ่มหินมอนโซแกรนิตโดยใช้แผนภูมิ QAPFภายใต้กล้องจุลทรรศน์พบประกอบด้วยแร่ควอตซ์ 22 – 35% แร่แพลจิโอเคลส 30 – 41% โพแทสเซียม-เฟลด์สปาร์ 30 - 37% ไบโอไทต์ต่ำกว่า4%และแร่ทึบแสง 1– 4% ลักษณะเนื้อหินที่สำคัญได้แก่ Intergranular ,inequigranular, poikilitic และ perthitic textures มีขนาดผลึกโดยเฉลี่ยประมาณ 0.3-0.5 เซนติเมตร จากการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีแร่ แร่โพแทสเซียม-เฟลดสปาร์ประกอบด้วย แคลเซียม 0 - 5% โซเดียม 0 - 9%และโพแทสเซียม 86 - 99% ส่วนแพลจิโอเคลสประกอบด้วยแคลเซียม 0.5 - 32% โซเดียม 65 - 97%และ โพแทสเซียม 1 - 3% โดยสัดส่วนของ K-Na-Ca พบว่า โพแทสเซียม-เฟลด์สปาร์ จัดอยู่ในกลุ่ม ออร์โทเคลส ส่วนแพลจิโอเคลสอยู่ในช่วงอัลไบต์ – แอนดีซีน (3 – 40%An) ไบโอไทต์ส่วนใหญ่ถูกเปลี่ยนเป็นแร่ทึบแสงที่ประกอบด้วยเหล็ก แต่มีไบโอไทต์บางส่วนที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงซึ่งแสดงส่วนประกอบในช่วงแคบๆ ของ K0.04-0.1, Mg0.8-1 and Fe2+1.9 ส่วนข้อมูลธรณีเคมีของหินทั้งก้อนพบว่าประกอบด้วย 72 - 75 %SiO₂, 0 - 0.2 % TiO₂, 12.5 - 14% Al₂O₃, 0.20 - 1.2% Fe₂O₃, ≤ 0.05 % MnO, ≤1% MgO, ≤1% CaO, 3 - 4% Na₂O, 3 - 5 % K₂O, ≤0.05 % P₂O5 เมื่อแสดงด้วย แผนภูมิการเปลี่ยนแปลงของฮาร์เกอร์ พบว่าเมื่อ SiO₂เพิ่มขึ้น องค์ประกอบของ Al₂O₃, CaO, MgO, P₂O5, TiO₂, MnO, และ Fe₂O₃ มีแนวโน้มลดลง แต่ K₂O แนวโน้มเพิ่มขึ้น จากการศึกษาทั้งหมดแสดงให้เห็นว่าหินแกรนิตนี้น่าจะกำเนิดจากหินหนืดแกรนิตชนิด I-typeและเกิดในบริเวณธรณีแปรสัณฐานแบบแนวภูเขาไฟโค้งในมหาสมุทรและทวีปและการชนกันของแผ่นทวีป ในช่วงที่กำลังชนกัน