Abstract:
น้ำบาดาลเป็นแหล่งน้ำสำคัญที่คนไทยในหลายภูมิภาคใช้เพื่อการอุปโภค-บริโภค-เพื่อการเกษตร และใช้ในด้านอุตสาหกรรม โดยจากข้อมูลของกรมน้ำบาดาลพบว่าความต้องการใช้น้ำบาดาลมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต จึงต้องมีการบริหารจัดการน้ำบาดาลอย่างเป็นระบบเพื่อให้สามารถใช้น้ำบาดาลได้อย่างยั่งยืนและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยการที่จะบริหารจัดการน้ำบาดาลย่อมต้องทราบถึงข้อมูลทางวิชาการด้านน้ำบาดาลในพื้นที่นั้นๆ อาทิเช่น ปริมาณน้ำที่จะเติมลงชั้นน้ำบาดาล ซึ่งหากสามารถประเมินปริมาณน้ำที่เติมลงสู่ชั้นน้ำบาดาลได้ก็สามารถกำหนดปริมาณการใช้น้ำบาดาลได้อย่างเหมาะสม งานวิจัยนี้ได้ทำการศึกษาการประเมินปริมาณน้ำที่เติมลงชั้นน้ำบาดาลด้วยวิธีการวัดค่าสัมประสิทธิ์การเติมน้ำโดยได้ทำการออกภาคสนามเก็บตัวอย่างดินและวัดค่าการซึมหลังจากนั้นจำแนกชนิดของดินเพื่อนำมาคำนวณหาค่าสภาพการนำชลศาสตร์และนำค่าสภาพการนำชลศาสตร์มาวิเคราะห์หาค่าสัมประสิทธิ์การเติมน้ำ จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าค่าสัมประสิทธิ์การเติมน้าหรือเปอร์เซนต์ของปริมาณน้ำผิวดินที่จะซึมสู่ชั้นน้ำบาดาลและมีความสัมพันธ์กับสภาพการนำชลศาสตร์ของดินในพื้นที่ พื้นที่ศึกษาของงานวิจัยนี้ตั้งอยู่ในตำบลสามพระยา-ตำบลห้วยทรายเหนือและตำบลไร่ใหม่พัฒนา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี จากการจำแนกชนิดของดินพบว่าเนื้อดินส่วนใหญ่มีตะกอนทรายเป็นส่วนประกอบหลักและจากการวิเคราะห์หาค่าสัมประสิทธิ์การเติมน้ำพบว่ามีค่าตั้งแต่ 45% ขึ้นไป และมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 59% นอกจากนี้จากการประเมินความถูกต้องโดยตรวจสอบระดับน้ำที่เติมลงชั้นน้ำบาดาลด้วยค่าสัมประสิทธิ์การเติมน้ำในช่วง สิงหาคม พ.ศ 2554.– พฤศจิกายน พ.ศ 2555 และ พฤศจิกายน พ.ศ. 2555.– ตุลาคม พ.ศ 2556 พบว่ามีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 93.5 และ 67.6 มิลลิเมตรตามลำดับ หรือคิดเป็น 8.22% และ8.35% ของปริมาณฝนทั้งหมดที่ตกในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาที่ผ่านมาที่พบว่าปริมาณน้ำที่เติมลงสู่ชั้นน้ำบาดาลในแต่ละลุ่มน้ำของประเทศไทยมีค่าเฉลี่ยไม่เกิน 12% ของปริมาณฝนทั้งหมด