Abstract:
งานวิจัยชิ้นนี้ศึกษาอุปลักษณ์เกี่ยวกับโรคมะเร็งในภาษาไทยโดยเชื่อมโยงแนวทางการวิเคราะห์อุปลักษณ์ของทฤษฎีมโนอุปลักษณ์จากทางภาษาศาสตร์ปริชานกับแนวทางการวิเคราะห์การใช้อุปลักษณ์ในการสื่อสารของทางวัจนปฏิบัติศาสตร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษามโนอุปลักษณ์เกี่ยวกับโรคมะเร็งในภาษาไทยว่าสะท้อนมุมมองที่แพทย์และผู้ป่วยมีต่อโรคมะเร็งอย่างไร เจตนาปริจเฉทเกี่ยวกับโรคมะเร็งของแพทย์และผู้ป่วยมีอะไรบ้าง และเจตนานั้นสัมพันธ์กับการใช้อุปลักษณ์และมโนอุปลักษณ์โรคมะเร็งอย่างไร ผลการศึกษามโนอุปลักษณ์เกี่ยวกับโรคมะเร็งพบว่า ผู้ป่วยมีมโนอุปลักษณ์ “โรคมะเร็งเป็นเชื้อโรค” “โรคมะเร็งเป็นวัชพืช” “โรคมะเร็งเป็นสัตว์ร้าย” “โรคมะเร็งเป็นภัยวิบัติ” “โรคมะเร็งเป็นเพื่อน” “โรคมะเร็งเป็นวัตถุแปลกปลอม” “การรักษาโรคมะเร็งเป็นการทำสงคราม” “การรักษาโรคมะเร็งเป็นการเดินทาง” และ “การรักษาโรคมะเร็งเป็นการแข่งขัน” มโนอุปลักษณ์ส่วนใหญ่พบในภาษาของแพทย์ด้วยเช่นกัน ยกเว้น “โรคมะเร็งเป็นเพื่อน” “การรักษาโรคมะเร็งเป็นการเดินทาง” และ “การรักษาโรคมะเร็งเป็นการแข่งขัน”
ผลการวิเคราะห์เจตนาปริจเฉทในตัวบทและบทสนทนาเกี่ยวกับโรคมะเร็งของแพทย์และผู้ป่วยพบว่า เจตนาปริจเฉทเกี่ยวกับโรคมะเร็งของแพทย์ คือ (1) การให้ความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งและการรักษา (2)การรณรงค์ให้ป้องกันและเข้ารับการตรวจคัดกรองโรค และ (3) การปลอบใจให้กำลังใจผู้ป่วย ส่วนเจตนาปริจเฉทเกี่ยวกับโรคมะเร็งของผู้ป่วยคือ (1) การแบ่งปันประสบการณ์การเจ็บป่วยและการรักษา (2) การแสดงอารมณ์ความรู้สึกต่างๆที่เกิดขึ้นจากการเจ็บ ป่วยทั้งในด้านลบและด้านบวก และ (3) การปลอบใจให้กำลังใจผู้ป่วยมะเร็งคนอื่นๆ ญาติของผู้ป่วย และตนเอง เจตนาเหล่านี้แสดงผ่านวัจนกรรม 4 กลุ่มใหญ่ คือ การบรรยาย การกำหนดให้ทำ การแสดงอารมณ์ความรู้สึก และการสัญญา ผลการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของเจตนาและมโนอุปลักษณ์พบว่า มโนอุปลักษณ์หนึ่งๆเป็นกลวิธีในการทำวัจนกรรมได้หลายแบบเพื่อสื่อเจตนาหนึ่ง การใช้มโนอุปลักษณ์จึงไม่สัมพันธ์กับประเภทของวัจนกรรม แต่สัมพันธ์กับเจตนาในการสื่อสารของแพทย์และผู้ป่วย และสัมพันธ์กับคุณสมบัติ “การทำให้เด่น” (highlighting property) ของแต่ละมโนอุปลักษณ์ มโนอุปลักษณ์หนึ่งๆไม่สามารถอธิบายมโนทัศน์โรคมะเร็งได้ทั้งมโนทัศน์ แพทย์และผู้ป่วยจึงใช้ทุกมโนอุปลักษณ์ที่พบในการบรรยายคุณสมบัติด้านต่างๆของมโนทัศน์โรคมะเร็งตามคุณสมบัติการทำให้เด่นนี้ และใช้เพียงบางมโนอุปลักษณ์ในการปลอบใจให้กำลังใจและการแสดงอารมณ์ความรู้สึก ที่พบมากคือ มโนอุปลักษณ์ “โรคมะเร็งเป็นเพื่อน” “การรักษาโรคมะเร็งเป็นการทำสงคราม” และ “การรักษาโรคมะเร็งเป็นการแข่งขัน”