Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้มุ่งศึกษาการสร้างตัวละครกับการนำเสนอมโนทัศน์เกี่ยวกับผู้หญิงในนวนิยายของปิยะพร ศักดิ์เกษม จำนวน 18 เรื่อง ได้แก่ ตะวันทอแสง ระบำดาว ทรายสีเพลิง ใต้ร่มไม้เลื้อย ดอกไม้ในป่าหนาว กิ่งไผ่ใบรัก เรือนศิรา รากนครา ทางสายธาร ใต้เงาตะวัน ในบ่วงมนตรา บัลลังก์แสงเดือน ลับแลลายเมฆ บ้านร้อยดอกไม้ ในวารวัน วาวพลอย สะพานแสงคำ และตะวันเบิกฟ้า โดยเลือกศึกษาตัวละครหญิงและตัวละครชายเป็นจำนวนมากที่มีบทบาทหลากหลายเพื่อแสดงให้เห็นว่าปิยะพรใช้การสร้างตัวละครในนวนิยายทั้งหมดนี้เป็นช่องทางในการนำเสนอมโนทัศน์เกี่ยวกับผู้หญิงได้อย่างชัดเจน ผลการศึกษาพบว่า ปิยะพร ศักดิ์เกษมสร้างตัวละคร โดยเริ่มจากการกำหนดพื้นฐานทั้งในด้านครอบครัว การศึกษาและสถานะทางเศรษฐกิจและสถานะทางสังคม อันนำไปสู่บุคลิกลักษณะ ลักษณะนิสัยความคิด ทัศนคติและพฤติกรรม ทำให้ตัวละครแต่ละตัวมีลักษณะที่โดดเด่น น่าสนใจและสมจริง ด้วยบทบาทของตัวละครทั้งหญิงและชายที่มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันในเรื่อง ปิยะพรได้นำเสนอปัญหาเกี่ยวกับผู้หญิงหลายรูปแบบ ปัญหาเหล่านั้นมักมีสาเหตุมาจากการกระทำของผู้ชายและจากค่านิยมที่ยึดถือกันมานานในสังคม ตัวละครหญิงหลายตัวถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกลิดรอนสิทธิ ถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจ ตลอดจนถูกข่มขืนกระทำชำเรา ด้วยความกดดันที่รุนแรงผลักดันให้ตัวละครหญิงต้องการเรียกร้องความเป็นธรรม ตัวละครหญิงบางตัวเพียงแต่เกิดความคิดภายในใจของตน ตัวละครหญิงบางตัวเรียกร้องผ่านคำพูด และบางตัวก็กล้าหาญพอที่จะแสดงออกทางการกระทำต่อต้านทั้งโดยส่วนตัว ทางสังคมและทางกฎหมาย ส่วนตัวละครชาย บางตัวมีบทบาทในทางกดขี่ข่มเหงตัวละครหญิง ในขณะที่บางตัวก็มีบทบาทในการช่วยเหลือและสนับสนุนตัวละครหญิงในการเรียกร้องความเป็นธรรม แสดงให้เห็นว่าปิยะพรใช้ตัวละครทั้งหญิงและชายเพื่อร่วมกันนำเสนอมโนทัศน์เกี่ยวกับผู้หญิงได้อย่างชัดเจน ซึ่งสามารถประมวลได้โดยสังเขปดังนี้ สังคมควรปฏิบัติต่อผู้หญิงอย่างเท่าเทียมกันกับผู้ชายทั้งในด้านการศึกษา อาชีพการงานและครอบครัวรวมถึงการปรับเปลี่ยนค่านิยมเกี่ยวกับผู้หญิงด้วย ปัญหาการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงทั้งทางร่างกาย และจิตใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการล่วงละเมิดทางเพศควรได้รับความใส่ใจจากสังคม และควรได้รับการแก้ไขจากทุกฝ่าย ในขณะเดียวกันทั้งผู้หญิงและผู้ชายสามารถเลือกวิถีชีวิตที่สนับสนุนซึ่งกันและกัน อันจะทำให้สังคมสงบสุข อย่างไรก็ตามบางกรณีผู้หญิงอาจยืนหยัดอยู่ได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องพึ่งพาผู้ชาย ประเด็นสุดท้ายผู้หญิงเป็นผู้สร้างสิ่งที่ดีงามในสังคมและยังจรรโลงสังคมให้ดีขึ้นอีกด้วย มโนทัศน์ทั้งหมดที่นำเสนอผ่านการสร้างตัวละครน่าจะกระตุ้นให้สังคมหันมาสนใจ และเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องแสวงหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมทางเพศอย่างจริงจัง