Abstract:
การศึกษาภาพลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกเรียกว่า "ชาวเขา" ในสังคมไทย ระหว่างทศวรรษ 2420 ถึง ทศวรรษ 2520 นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพัฒนาการและกระบวนการเปลี่ยนแปลงการสร้างภาพลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ "ชาวเขา" ร่วมกับบริบททางประวัติศาสตร์ ผลการศึกษาพบว่า ภาพลักษณ์ของ "ชาวเขา" สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ช่วงเวลา คือสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง (ทศวรรษ 2420-2470) และสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง (ทศวรรษ 2480-2520) ในสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ชนชั้นนำสยามเป็นผู้มีบทบาทสร้างภาพลักษณ์ของ "ชาวป่า/ชาวเขา" ปัจจัยที่ส่งผลต่อการสร้างภาพลักษณ์มีด้วยกันหลายประการ ได้แก่ การแพร่กระจายเข้ามาของแนวคิดวิวัฒนาการทางสังคม การเกิดขึ้นของรัฐชาติ และแนวคิดชาตินิยมไทย ภาพลักษณ์ของ "ชาวเขา" ที่ปรากฏในสมัยนั้นถูกมองว่าเป็นคนอื่นของสังคม เป็นกลุ่มคนล้าหลัง นับถือผีอย่างงมงาย ตัดไม้ทำลายป่า และลอบค้าฝิ่น ภาพลักษณ์ของ "ชาวเขา" ในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สองพบว่า นับตั้งแต่ทศวรรษ 2500 ภาพลักษณ์ของ "ชาวเขา" มีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน และมีความซับซ้อนมากขึ้น อันเป็นผลมาจากสถานการณ์คอมมิวนิสต์ รวมถึงอคติทางชาติพันธุ์ที่ทำให้ "ชาวเขา" มีภาพลักษณ์เป็นกลุ่มคนที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ผลจากการพัฒนาประเทศอย่างรวดเร็วในรัฐบาล จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (พ.ศ. 2502-2506) ทำให้ "ชาวเขา" มีภาพลักษณ์เป็นกลุ่มคนที่ถ่วงความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ และทำลายป่าไม้ด้วย แต่ในขณะเดียวกันกลับพบว่า "ชาวเขา" มีภาพลักษณ์เป็นกลุ่มคนที่ดำรงชีวิตแบบดั้งเดิม แปลกประหลาด และสวยงาม อันเป็นผลมาจากการส่งเสริมการท่องเที่ยว