Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) วิเคราะห์ว่าอายตนกริยาในภาษาไทยคำใดที่มีคุณสมบัติเป็นคำบ่งชี้แหล่งที่มาของข้อมูล 2) วิเคราะห์คุณสมบัติทางวากยสัมพันธ์และอรรถศาสตร์ของคำบ่งชี้แหล่งที่มาของข้อมูลที่ได้ในข้อ 1) 3) จัดจำแนกประเภทของการบ่งชี้แหล่งที่มาของข้อมูล 4) วิเคราะห์ความหมายเชิงวัจนปฏิบัติ และ 5) ศึกษาการกลายเป็นคำไวยากรณ์ของอายตนกริยาบ่งชี้แหล่งที่มาของข้อมูลในภาษาไทย ผลการวิจัยพบว่าอายตนกริยาบ่งชี้แหล่งที่มาของข้อมูลในภาษาไทยได้แก่ อายตนกริยา "เห็น" "ดู" "ได้ยิน" และ "รู้สึก" โดยแบ่งตามคุณสมบัติทางวากยสัมพันธ์และอรรถศาสตร์ได้เป็น 2 ประเภท คือ 1) อายตนกริยาบ่งชี้แหล่งที่มาของข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการแสดงทัศนภาวะได้แก่ “ดู” “เห็น” และ “รู้สึก” และ 2) อายตนกริยาบ่งชี้แหล่งที่มาของข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องกับการแสดงทัศนภาวะได้แก่ “เห็น” และ “ได้ยิน” อายตนกริยาบ่งชี้แหล่งที่มาของข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการแสดงทัศนภาวะ “ดู” และ “เห็น” แสดงการบ่งชี้แหล่งที่มาของข้อมูลประเภทอนุมาน (inference) ได้แก่การร่างข้อสรุปจากการรับรู้ด้วยตา ขณะที่อายตนกริยา “รู้สึก” แสดงการบ่งชี้แหล่งที่มาของข้อมูลประเภทสันนิษฐาน (assumption) ได้แก่การร่างข้อสรุปบนพื้นฐานของการรับรู้อื่น ส่วนอายตนกริยาบ่งชี้แหล่งที่มาของข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องกับการแสดงทัศนภาวะ “เห็น” และ “ได้ยิน” แสดงการบ่งชี้แหล่งที่มาของข้อมูลประเภทบอกต่อ (hearsay) และคัดลอกถ้อยความ (quotative) ได้แก่การรายงานข้อมูลจากบุคคลอื่น อายตนกริยาบ่งชี้แหล่งที่มาของข้อมูลแสดงความหมายในเชิงวัจนปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการลดระดับการยืนยันความถูกต้องข้อมูลโดยการปัดความรับผิดชอบที่มีต่อความถูกผิดของข้อมูลไปที่การรับรู้ของผู้อื่น หรือถ่ายทอดของมูลในลักษณะของความเห็นมากกว่าการรายงานข้อเท็จจริง การกลายเป็นคำไวยากรณ์ของอายตนกริยาบ่งชี้แหล่งที่มาของข้อมูลเกี่ยวข้องกับการกลายเป็นอัตวิสัย ซึ่งเป็นกระบวนการที่ทำให้เกิดการตีความตามมุมมองของผู้พูดแทนการตีความตามรูปภาษา