Abstract:
ผู้เขียนมองการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์การในระบบราชการซึ่งเปลี่ยนผ่านจากรูปแบบราชการ สู่องค์การกึ่งอิสระจากรัฐบาลซึ่งมีความเป็นอิสระและความคล่องตัวกว่าองค์การแบบราชการ จึงนำไปสู่คำถามวิจัยว่า ระบบความพร้อมถูกตรวจสอบขององค์การกึ่งอิสระจากรัฐบาลเป็นอย่างไร ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น อะไรคือปัญหา และควรแก้ไขอย่างไร ผู้เขียนศึกษาโดยใช้วิธีการสำรวจเชิงสถาบันแบบดั้งเดิม จากกรณีศึกษาองค์การมหาชนที่ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเฉพาะจำนวน 5 กรณีศึกษา ได้แก่ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย(ThaiPBS) สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข คุรุสภา และธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมีหน่วยวิเคราะห์ คือ คณะกรรมการในองค์การซึ่งเป็นโครงสร้างส่วนบนสุดขององค์การ ด้วยวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึกและวิจัยเอกสารต่างๆ ผลการศึกษาพบว่า โดยธรรมชาติขององค์การต้องการความเป็นอิสระคล่องตัวเป็นสำคัญ จึงทำให้องค์การมีลักษณะที่โครงสร้างส่วนคณะกรรมการไม่อยู่ภายใต้การควบคุมบังคับบัญชาของกระทรวงเยี่ยงส่วนราชการ ธรรมชาติขององค์การดังกล่าวจึงเป็นตัวกำหนดรูปแบบความพร้อมถูกตรวจสอบด้วย ความพร้อมถูกตรวจสอบจึงมีรูปแบบที่หลากหลายไม่มีรูปแบบที่ดีที่สุดแบบเดียว ซึ่งไม่มีความพร้อมถูกตรวจสอบตามระบบราชการ แต่จะมีทั้งความพร้อมถูกตรวจสอบทางการเมือง ความพร้อมถูกตรวจสอบตามกฎหมาย ความพร้อมถูกตรวจสอบทางวิชาชีพ ความพร้อมถูกตรวจสอบทางสังคม ปัญหาของความพร้อมถูกตรวจสอบที่พบ คือ คณะกรรมการองค์การไม่อยู่ภายใต้การตรวจสอบโดยตรงจากหน่วยหนึ่งหน่วยใดอย่างชัดเจน ความพร้อมถูกตรวจสอบโดยองค์กรตรวจสอบภายนอกอ่อนแอ ขาดแนวทางที่ชัดเจนในการตรวจสอบการการทำงานของของคณะกรรมการ ขาดความชัดเจนถึงแนวทางและมาตรการที่จะนำไปสู่การมีสภาพบังคับลงโทษแก่คณะกรรมการ ผู้เขียนจึงเสนอว่าควรมีการปรับปรุงการทำหน้าที่ตรวจสอบจากหน่วยตรวจสอบภายนอกให้สามารถทำหน้าที่ในการตรวจสอบได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและสามารถนำไปสู่มาตรการและสภาพบังคับในทางปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม และพัฒนากระบวนการบริหารเพื่อเพิ่มความโปร่งใส