Abstract:
การสร้างสรรค์ผลงานดุริยางคศิลป์ ชุด เพลงมม็วด เป็นการวิจัยโดยใช้ระเบียบวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพิธีกรรมมม็วด อีกทั้งสร้างสรรค์ผลงานดนตรีจากพิธีกรรม รวมไปถึงการจัดการแสดงผลงานการประพันธ์เพลงมม็วด ซึ่งในการศึกษา ผู้วิจัยได้ใช้วิธีการสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วม โดยผู้วิจัยมีส่วนร่วมในพิธีกรรมในฐานะผู้สังเกต ใช้ทฤษฏี แนวคิดทางด้านดนตรีพื้นเมืองและดนตรีไทย อีกทั้งทฤษฏีความคิดสร้างสรรค์มาใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานการประพันธ์เพลง ผลการศึกษาพิธีกรรมมม็วดพบว่า พิธีกรรมสามารถแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มได้แก่ การไหว้ครู การเบิกโรง การเข้าทรง และการลา จัดขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการรักษาโรค และ การจัดตามประเพณีประจำปีสำหรับผู้เป็นมม็วด ในส่วนของผลงานสร้างสรรค์บทเพลง ชุด เพลงมม็วดเป็นการสร้างสรรค์โดยนำเอาพิธีกรรมมม็วดของจังหวัดสุรินทร์ บรรยากาศ รวมไปถึงกริยาท่าทางต่างๆ มาเป็นแรงบันดาลใจเพื่อสร้างสรรค์เป็นผลงานเพลง มีจำนวน 5 เพลง ได้แก่ เพลงเติ๊บกรูเปรออัญ เพลงออญเจิญ เพลงเจือนโรง เพลงโฏนตา เพลงเลียโรง ซึ่งชื่อเพลงได้แรงบันดาลใจมาจากขั้นตอนของพิธีกรรมมม็วด คือ การไหว้ครู การเชิญ การเหยียบโรง การเข้าทรงบรรพบุรุษ และการลาโรง ตามลำดับ โดยใช้วงเครื่องสายไทยผสมกับซอกันตรึม ซึ่งยังไม่มีผู้ใดทำมาก่อน รวมทั้งมีปี่อ้อและกลองกันตรึมร่วมบรรเลงเพื่อให้ได้กลิ่นไอของความเป็นเขมรผสมผสานกับการบรรเลงเครื่องสายไทยซึ่งเป็นการผสมวงในรูปแบบใหม่