Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการแลกเปลี่ยนการเกื้อหนุนระหว่างผู้สูงอายุและบุตรในประเทศไทย ทั้งในเชิงบริบท ปัจจัยกำหนด ความสัมพันธ์ของการได้รับการเกื้อหนุนและการให้การเกื้อหนุน และผลกระทบของรูปแบบการเกื้อหนุนที่มีต่อความสุขของผู้สูงอายุ โดยใช้ข้อมูลเชิงปริมาณจากข้อมูล 5 ชุด ผลการศึกษาโดยรวมพบว่า บุตรยังคงเป็นหลักในการให้การเกื้อหนุนแก่ผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่องมาตลอด 30 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังพบว่าผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะให้การเกื้อหนุนแก่บุตรเพิ่มขึ้น ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและเวลา จากข้อมูลปี พ.ศ.2554 พบว่าปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการได้รับการเกื้อหนุนจากบุตร พบว่า ภายหลังจากการควบคุมอิทธิพลจากปัจจัยอื่นแล้ว รายได้ของผู้สูงอายุเป็นตัวแปรที่สามารถอธิบายการได้รับการเกื้อหนุนด้านวัตถุและการดูแลจากบุตรได้ดีที่สุด นอกจากนี้ พบว่าลักษณะครอบครัวและเขตที่อยู่อาศัยมีความสัมพันธ์อย่างมีนัยยะสำคัญกับการได้รับเงินและสิ่งของจากบุตร ในขณะที่เขตอยู่อาศัย ลักษณะการอยู่อาศัย และภาวะสุขภาพมีความสัมพันธ์อย่างมีนัยยะสำคัญกับการได้รับการดูแลจากบุตร สำหรับการให้การเกื้อหนุนแก่บุตร ภายหลังจากการควบคุมตัวแปรอื่นให้คงที่แล้ว พบว่า การทำงานของผู้สูงอายุมีความสัมพันธ์ทางบวกกับการให้เงินบุตร ในขณะที่สุขภาพมีความสัมพันธ์ทางบวกกับการให้ความช่วยเหลืองานบ้านและการดูแลหลาน จากการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการได้รับและการให้การเกื้อหนุนของผู้สูงอายุ พบว่า ผู้สูงอายุที่ได้รับการเกื้อหนุนจากบุตรมีแนวโน้มจะให้การเกื้อหนุนแก่บุตรกลับไป ในขณะเดียวกัน ผู้สูงอายุที่ให้การเกื้อหนุนแก่บุตรมีโอกาสที่จะได้รับการความช่วยเหลือจากบุตรกลับมา นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้สูงอายุและบุตรมีการแลกเปลี่ยนประเภทการเกื้อหนุนที่แตกต่างกัน โดยผู้สูงอายุมีแนวโน้มจะให้การช่วยเหลือบุตรในรูปแบบของการบริการหรือเวลาในการทำกิจกรรม ในขณะที่บุตรมีแนวโน้มจะให้การเกื้อหนุนในรูปของวัตถุ คือ เงินและสิ่งของ เมื่อพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างรูปแบบการเกื้อหนุนที่เกิดขึ้นกับความสุขของผู้สูงอายุ พบว่า ภายหลังควบคุมอิทธิพลของตัวแปรอื่นทั้งหมด การแลกเปลี่ยนแบบที่ผู้สูงอายุเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับมีแนวโน้มจะส่งผลให้ผู้สูงอายุมีคะแนนความสุขมากที่สุด